ZoomIn: กูรูฟันธง! กนง.นัดแรกตรึงดอกเบี้ย แรงกดดันการเมืองไร้ผล

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 23, 2024 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ZoomIn: กูรูฟันธง! กนง.นัดแรกตรึงดอกเบี้ย แรงกดดันการเมืองไร้ผล

วงการแบงก์ เชื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นัดแรกปีนี้ (7 ก.พ.) ยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% และมีโอกาสจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับนี้ตลอดทั้งปี หรืออย่างน้อยสุดภายในครึ่งปีแรก แนะจับตาปรับมุมมองแนวโน้มเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ หรือไม่ หวัง กนง.พิจารณานโยบายดอกเบี้ยตามสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริง มากกว่าแรงกดดันทางการเมือง

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ประเมินการตัดสินใจของ กนง.ในการประชุมนัดแรกของปีนี้ 7 ก.พ.67 คาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และตรึงไว้ตลอดทั้งปี 67 ตราบใดที่แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของไทยยังเป็นไปตามสมมติฐานที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินไว้ล่าสุด ไม่ว่าจะ "มี" หรือ "ไม่มี" มาตรการ Digital Wallet ก็ตาม

ZoomIn: กูรูฟันธง! กนง.นัดแรกตรึงดอกเบี้ย แรงกดดันการเมืองไร้ผล

พร้อมกันนี้ มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.50% ถือว่ายังเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะต้องไม่ลืมว่า ธปท.จะประเมินทิศทางนโยบายการเงินโดยใช้แนวทาง Outlook Dependent & Look Through Noise ซึ่งจะแตกต่างจากธนาคารกลางอื่นๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ใช้แนวทาง Data Dependent อย่างชัดเจน

ดังนั้น หากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าปีนี้จะ "มี" หรือ "ไม่มี" มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ Digital Wallet หรือไม่ก็ตาม จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทย ก็ยังสามารถขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3% ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มทยอยปรับตัวสูงขึ้น เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3%

"กนง. ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับนโยบายการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ถือว่ายังเป็นระดับที่เหมาะสม ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ" นายพูน ระบุ

*มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยลง จับตามุมมองเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ

ขณะเดียวกัน เราพร้อมปรับมุมมองใหม่ว่า กนง.อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยนโยบายได้ในปีนี้ หากเศรษฐกิจหลัก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรป เผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงกว่าคาด รวมทั้งเศรษฐกิจจีนซบเซาลงแย่กว่าคาด จนมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่ำกว่า 3% อย่างมีนัยสำคัญ

แต่อย่างไรก็ดี ในการประชุม กนง.นัดแรกของปีนี้ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า จะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อหรือไม่

"หาก กนง.เริ่มแสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มเติม ก็อาจสะท้อนว่ามีโอกาสที่ กนง. อาจทยอยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อได้ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป ซึ่งนั่นหมายความว่า มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ได้" นายพูน ระบุ

แม้จะยังคาดว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ แต่หาก กนง.ต้องการจะเริ่มส่งสัญญาณการปรับนโยบายการเงิน ก็อาจใช้การประชุม กนง. ในรอบถัดไป (10 เม.ย.) หรือในช่วงงาน Monetary Policy Forum ปลายเดือนเม.ย.เพื่อสื่อสารมุมมองดังกล่าว ซึ่งจะต้องเห็น กนง.แสดงความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจน จนอาจมีการปรับลดคาดการณ์ GDP และเงินเฟ้ออย่างมีนัยสำคัญ

"หากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็คาดว่า มีโอกาสที่ กนง. จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ได้ในการประชุมเดือน มิ.ย." นายพูน ระบุ

นายพูน ยังเห็นว่า การปรับนโยบายการเงินของไทยนั้น ไม่ได้จำเป็นเสมอไปที่จะต้องปรับเปลี่ยนไปตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะเฟด เนื่องจากวัฎจักรเศรษฐกิจไทย และประเทศเศรษฐกิจหลักแตกต่างกัน ยกเว้นกรณีที่บรรดาธนาคารกลางหลักต่างลดดอกเบี้ยเร็วและแรงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง เหมือนในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 หรือช่วงวิกฤตโควิด ซึ่งในกรณีนี้เศรษฐกิจไทยก็จะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างหนัก ซึ่ง กนง.ก็ควรจะทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตาม เหมือนที่เคยทำมาในอดีต

*BAY มองไม่ทิ้งโอกาสลดดอกเบี้ย ความเสี่ยงยังมี

น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ประเมินในทิศทางเดียวกันว่า ที่ประชุม กนง.วันที่ 7 ก.พ.นี้ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% และจะตรึงไว้ตลอดทั้งปี หรืออย่างน้อย คือครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% น่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

"ในมุมมองส่วนตัว เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งสุดท้าย (รอบ ส.ค. และ ก.ย.66) มีความจำเป็นค่อนข้างน้อย จึงทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ย้อนกลับมาที่ ธปท.อย่างรุนแรงในวันนี้ ซึ่งเห็นว่าควรหยุด (ดอกเบี้ย) ไว้ที่ระดับ 2%" น.ส.รุ่ง กล่าว

พร้อมระบุว่า กรุงศรี คาดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 3.4% (เทียบกับคาดการณ์ GDP ในปี 66 ที่ 2.5%) โดยเป็นการฟื้นตัวตามวัฎจักร แรงส่งต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยว และการกระตุ้นทางการคลัง

อย่างไรดี ความเสี่ยงด้านขาลงยังมีอยู่ และแนวโน้มยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะภาคการส่งออก การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจจีน รวมถึงนโยบายภาครัฐของไทยเอง และปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ขีดความสามารถการแข่งขันของไทย

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ราว 35.6 ล้านคน การส่งออก ขยายตัว 2.5% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) อยู่ที่ 2% ส่วนสถานการณ์เงินเฟ้อติดลบในช่วงนี้ ประเมินว่าจะยังติดลบต่อเนื่องในช่วงต้นปี แต่ในระยะถัดไป มีแนวโน้มทยอยปรับเพิ่มขึ้นตามปัจจัยเรื่องต้นทุนสินค้า ราคาพลังงาน ภัยแล้ง และการเติบโตทางเศรษฐกิจ

น.ส.รุ่ง ยังให้ความเห็นถึงกระแสการเรียกร้องให้ ธปท.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อติดลบอยู่ในปัจจุบันว่า หาก กนง. จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วงเวลานี้ กว่าจะเห็นผลที่เกิดขึ้น คือ อีก 2-3 ไตรมาส ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงที่รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ได้แล้ว ซึ่งจะยิ่งไปเพิ่มแรงกระตุ้น ทั้งการกระตุ้นทางการคลังจากนโยบายของภาครัฐ และการกระตุ้นทางการเงิน ซึ่งเป็นผลจากการลดดอกเบี้ยของ กนง.

"หากจะลดดอกเบี้ย ก็ควรลดตามโลก และแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจเปลี่ยนไป มากกว่าลดเพราะแรงกดดันทางการเมือง นั่นคือ ให้น้ำหนักกระแสโลกด้วย เพราะเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกัน" น.ส.รุ่ง ระบุ

*SCB คาด กนง.คงดอกเบี้ยตลอดปี

บทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะคงอยู่ที่ระดับ 2.5% ตลอดปีนี้ เนื่องจาก กนง.มองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจสู่ศักยภาพ และเอื้อให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมาย อีกทั้ง กนง.ยังสื่อสารสนับสนุนให้ใช้มาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนในการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรกของปี 67 โดยได้แรงส่งหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชน ตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น มาตรการลดค่าครองชีพและโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีแรงหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นต่อเนื่อง และการส่งออกที่กลับมาขยายตัวได้

ส่วนปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป มาจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ล่าช้ากดดันการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีแรก ตลอดจนความไม่แน่นอนจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความเสี่ยงใหม่ในตะวันออกกลางที่อาจกระทบการขนส่งทางทะเล และทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกชะงักขึ้นได้อีก

สำหรับเงินเฟ้อไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน แต่ส่วนใหญ่เป็นผลจากมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน โดย SCB EIC ประเมินว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด มองไปข้างหน้าเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นหลัก กดดันปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง และรายได้กลุ่มเปราะบางฟื้นช้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ