ธปท.รับอาจหั่น GDP ปี 66 จากเดิมคาดโต 2.4% รอดูทิศทาง กนง.นัดแรกของปี 7 ก.พ.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 31, 2024 15:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท.รับอาจหั่น GDP ปี 66 จากเดิมคาดโต 2.4% รอดูทิศทาง กนง.นัดแรกของปี 7 ก.พ.

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธปท.อาจจะมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 66 ลงจากที่เคยคาดไว้เดิม 2.4% แต่ทั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะปรับลดลงไปต่ำกว่า 2% หรือไม่ เพราะต้องรอการการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมนัดแรกของปีนี้ในวันที่ 7 ก.พ.67 รวมทั้งการพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ม.ค. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 66 ลงเหลือโต 1.8% และวันที่ 19 ก.พ.นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะแถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/66 และสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 66 ซึ่งล่าสุดคาดว่าจะเติบโตได้ 2.5%

ธปท.รับอาจหั่น GDP ปี 66 จากเดิมคาดโต 2.4% รอดูทิศทาง กนง.นัดแรกของปี 7 ก.พ.

น.ส.ชญาวดี ระบุว่า นอกจากจะมีการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยปี 66 แล้ว จะมีผลต่อประมาณการเศรษฐกิจในปี 67 ด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อจุดตั้งต้นในปี 66 ต่ำลง ก็จะทำให้แรงส่งไปสู่ปี 67 แผ่วลงไปบ้าง ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ต้องมาทบทวนอีกครั้ง

"เราคุยกันตั้งแต่ พ.ย.แล้วว่าเศรษฐกิจออกมา soft กว่าที่คาด พอตัวเลข ธ.ค.ออกมา ก็ confirm ภาพว่าเศรษฐกิจชะลอตัวกว่าที่คาด ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจ (ในปี 66) จะ soft กว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนจะปรับเท่าไร อย่างไร ต้องให้ กนง.ช่วยพิจารณาอีกที" โฆษก ธปท.ระบุ

*เศรษฐกิจไทย "วิกฤติ" หรือไม่?

โฆษก ธปท. กล่าวว่า คำว่า "วิกฤติ" ที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้ คือการมองเศรษฐกิจในภาพรวม ดังนั้นเครื่องชี้วัดที่ใช้ก็จะต้องเป็นเครื่องชี้ที่มาจากภาพรวมด้วย เช่น ดูการเติบโตของ GDP ว่าหดตัวรุนแรงมากน้อยแค่ไหนในช่วงที่ผ่านมา ดูเงินทุนไหลเข้า-ออกในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นกับว่าเป็นวิกฤติแบบไหนตามแต่ละนิยาม ดังนั้น ถ้ามองในภาพรวม จะยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้ถึงขั้นเติบโตช้ามาก หรือเจอกับอะไรที่ทำให้สะดุด แต่ถ้าจะมองเป็นภาพย่อย เป็นรายคน รายธุรกิจ ก็จะเห็นความเดือดร้อนที่ยังมีอยู่

"ยอมรับว่า เราก็เห็นว่าบางคน บางพื้นที่ ยังมีความเดือดร้อนจริงๆ เพราะฉะนั้นขึ้นกับว่าคำว่า "วิกฤติ" จะไปวัดหรือใช้กับตรงไหนด้วย...เราคงจะตอบคำถามว่า ใช่ (วิกฤติ) หรือไม่ (วิกฤติ) ไม่ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับบริบท ว่าเรากำลังวัดอะไรอยู่มากกว่า" โฆษก ธปท.ระบุ

*ความจำเป็น "อัดฉีดเงินก้อนใหญ่" กระตุ้นเศรษฐกิจ

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า การอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภคและจับจ่ายใช้สอยในภาคประชาชน เพื่อให้เป็นส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น มองว่าอาจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะปัญหาเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึกกว่าการใช้จ่ายระยะสั้น มาจากความต้องการด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ซึ่งน่าจะมีผลต่อการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตรงจุดมากกว่า

โฆษก ธปท. กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับเศรษฐกิจไทยว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองขึ้น ก็อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และมีผลต่อตลาดหุ้นไทยอยู่บ้าง แต่ในแง่ของพื้นฐานเศรษฐกิจไม่ได้กระทบมากนัก เพราะเมื่อสถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ทุกอย่างก็กลับสู่สภาพปกติ แต่สถานการณ์การเมืองในครั้งนี้ ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร เพราะต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์การเมืองด้วยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

"ที่ผ่านมา เวลามีเหตุการณ์ทางการเมือง อาจะมีผลต่อความเชื่อมั่น กระทบตลาดหุ้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจไม่โดนกระทบ การจับจ่ายใช้สอยยังคงไปได้อยู่ หากดูช่วงที่เรามีปัญหาการเมืองที่ผ่านมา ไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ยาวนาน เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างก็กลับมาได้เร็ว เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่น แต่ครั้งนี้ ขึ้นกับพัฒนาการว่าจะเป็นไปทางไหน คงบอกตอนนี้ยาก" โฆษก ธปท.กล่าว

ด้านนายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาส 4/66 จะเห็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า โดยเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมา ยังคงมาจากการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกยังไม่ค่อยดีนัก ส่งผลต่อเนื่องมาถึงภาคการผลิตทั้งปีที่ติดลบ สะท้อนปัญหาโครงสร้างของไทยเอง เพราะแม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยเองยังฟื้นตัวได้ช้ามาก

เมื่อมองไปข้างหน้า แม้ปี 67 เครื่องยนต์เศรษฐกิจบางตัวจะสามารถฟื้นกลับมาได้มากขึ้น เช่น การบริโภคที่ยังมีแรงส่งดีอยู่ และเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว แต่ยังมีคำถามว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์มากน้อยเพียงใดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตราบใดที่ไทยยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง

"ดังนั้นทางการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานต่าง ๆ จำเป็นต้องมีนโยบายเข้ามาช่วยกันเพื่อดูแลปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว" นายสักกะภพ กล่าว

พร้อมระบุว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอยู่ แต่ฟื้นตัวได้ช้า ซึ่งเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ก็ยืนยันภาพดังกล่าว ทั้งนี้หากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจบางตัว จะเห็นว่าสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว เช่น การบริโภคในประเทศ แต่การจ้างงานโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว ยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด ทำให้รายได้ยังกลับมาไม่เท่าเดิม ในขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ของ GDP ความเดือดร้อนของประชาชนจึงมีผลส่งผ่านไปยังภาคการผลิตได้ ดังนั้น มุมมองวิกฤติคงมองได้หลายมิติว่าจะมองมุมไหน

ส่วนนโยบายการเงินจะมีส่วนในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจได้หรือไม่นั้น นายสักกะภพ กล่าวว่า ถ้าต้องการความยั่งยืน นโยบายการเงินจะไม่ได้ตอบโจทย์ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยตรง แต่นโยบายการเงินเป็นการบริหารจัดการอุปสงค์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากจะใช้นโยบายการเงินไปช่วย เช่น การลดดอกเบี้ย ก็มองว่าขณะนี้อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำแล้วเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยในตลาดโลก หรือการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เช่น การทำให้บาทอ่อน ก็จะมีผลกระทบกับอีกหลายส่วน ทั้งผู้นำเข้า และผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศ ซึ่งการใช้นโยบายการเงินเพื่อการนี้ เป็นเพียงแค่การซื้อเวลามากกว่า ไม่ใช่การช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ