ธปท. ชี้ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ห่วงก่อหนี้เพิ่ม รอชั่งน้ำหนักข้อมูลใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 7, 2024 18:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธปท. ชี้ลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ห่วงก่อหนี้เพิ่ม รอชั่งน้ำหนักข้อมูลใหม่

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ขยายตัวได้ต่ำกว่าในระดับที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าที่ 2.4% เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/66 เศรษฐกิจชะลอตัวลงกว่าที่คาดไว้

"เศรษฐกิจในไตรมาส 4/66 ไม่ได้ขยายตัวเยอะมาก GDP ทั้งปี 66 ที่เราเคยประกาศไว้ที่ 2.4% น่าจะต้องปรับลดลงไปพอสมควร แต่อีก 2 สัปดาห์ สภาพัฒน์จะแถลงตัวเลขจริงแล้ว เราเองได้มีการประมาณการเป็นการภายใน ก็ค่อนข้างชัดว่าแผ่วลงไปจาก 2.4% พอสมควร " เลขานุการ กนง.ระบุ
นายปิติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ทำให้ศักยภาพของเศรษฐกิจไทยด้อยลง ซึ่งธปท.ติดตามสถานการณ์อยู่ ทั้งภาคส่งออก และภาคการผลิต แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวหลังจากโควิด ก็มีแรงส่งเชิงวัฎจักรที่ทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น ฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ก็ยังช้ากว่าที่ได้มองไว้ ซึ่งความไม่แน่นอนที่มีอยู่มากนี้ ทำให้ กนง.จำเป็นต้องชั่งน้ำหนัก ระหว่างปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ทอดยาว กับปัจจัยเชิงวัฎจักรที่ไม่ได้เป็นแรงส่งมากเท่าที่คาดไว้
"ความคลุมเครือที่ กนง.มอง คือความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยระยะสั้นที่เด้งขึ้น หรือเป็นแรงส่งที่มาจากเชิงวัฎจักรนี้ กับปัจจัยเชิงโครงสร้างที่มีปัญหามานาน ต้องชั่งน้ำหนักว่าในระยะข้างหน้า 2 ปัจจัยไหนมีผลมากหรือน้อยกว่ากัน ถ้าดูไปแล้ว ปัจจัยเชิงวัฎจักรที่จะมาช่วยเป็นแรงส่งในระยะสั้น ไม่มา หรือมาช้า ก็ฟ้องว่าศักยภาพเศรษฐกิจเราอาจจะชะลอ หรือต่ำกว่าที่มองไว้ ดังนั้น ค่อยมาพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลาง ควรเป็นเท่าไร" นายปิติ กล่าว

*ชี้ลดดอกเบี้ย ต้องพิจารณาหลายมิติ

การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้ดูเฉพาะปัจจัยเงินเฟ้อเป็นหลัก แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงอยู่ต่ำใกล้ขอบล่างของเป้าหมายนโยบายการเงินก็ตาม เงินเฟ้อไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจ การที่เงินเฟ้อไม่สูง ถือว่าไม่ซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก ดังนั้น ในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากดูเรื่องเงินเฟ้อ ดูภาวะเศรษฐกิจแล้วต้องดูเสถียรภาพการเงินควบคู่กันไปด้วย

"เราอยู่ในฐานะหนี้สูง เปราะบางหลายส่วน ต้องใช้เวลาสะสาง ถ้าดอกเบี้ยไม่เอื้อในการสะสาง ปัญหาหนี้ก็จะกลับมาเซาะกร่อนศักยภาพเศรษฐกิจ เหตุผลหนึ่งที่ ณ ตอนนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวช้ากว่าต่างประเทศ ส่วนหนึ่งมาจากงบดุล มีหนี้ที่สูง ดังนั้นการชั่งน้ำหนักจะต้องดูให้รอบด้าน ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ผลกระทบทุกภาคส่วน...

"การลดดอกเบี้ย อาจมีแรงจูงใจให้เกิดการก่อหนี้เพิ่ม มูลหนี้ที่สูงในระยะยาว อาจเป็นปัญหาใหญ่กว่าดอกเบี้ยที่ลดลงไปในระยะสั้น และภาระหนี้รวมแย่ขึ้นในระยะปานกลาง ดังนั้น ควรมีมาตรการเฉพาะจุด ดูแลให้กลุ่มที่มีปัญหาจริงๆ สะสางปัญหาหนี้ไปเลยดีกว่า การปรับดอกเบี้ย ผลกระทบค่อนข้างกว้าง ควรมีมาตรการเฉพาะจุดไปช่วยเหลือจะดีกว่า คนมีปัญหาก็มาปรับโครงสร้างหนี้ การปล่อยหนี้ใหม่ ก็ต้องทำแบบรับผิดชอบ ไม่ให้มีปัญหากลับมาอีก" นายปิติ ระบุ

นายปิติ ยังระบุด้วยว่า แม้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะติดลบต่อเนื่อง 4 เดือน แต่ก็ยังไม่ได้เข้าภาวะเงินฝืด เพราะถ้าเงินฝืด กำลังซื้อจะต้องหายไป ประชาชนไม่จับจ่ายใช้สอย ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายกลุ่มต้องปรับลดราคาลง แต่สิ่งที่ ธปท.เห็น คือสินค้าที่ราคาปรับลดลง เป็นผลมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากภาครัฐ และในระยะต่อไป เงินเฟ้อก็มีแนวโน้มค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อที่เห็นในขณะนี้ จึงไม่ใช่การสะท้อนภาพเงินฝืดแต่อย่างใด

"ที่เราเห็น ไม่ใช่การจับจ่ายใช้สอยที่ลดลงกันอย่างถ้วนหน้า จนทำให้สินค้าราคาลดลงในทุกกลุ่ม ไม่ใช่ภาวะที่อุปสงค์โดยรวมมีปัญหา เครื่องชี้อื่นๆ ยังบอกว่าการอุปโภคภาพรวมขยายตัวดี และต่อเนื่อง เป็นภาพของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และไม่มีภาวะเงินฝืด" นายปิติ ระบุ

* แรงกดดันทางการเมือง ต่อการตัดสินใจของ กนง.
นายปิติ ระบุว่า การหารือกับฝ่ายการเมืองในเรื่องนโยบายดอกเบี้ยที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในต่างประเทศเองก็มีการดีเบตกันอย่างกว้างขวางทั้งนโยบายทั่วไป และนโยบายการเงินทั้งนี้ มุมมองจากหลายภาคส่วน ถือเป็น input ที่มีค่ามาก
"ทำให้เราได้มองจากหลายแง่มุม ว่าควรจะพิจารณาประเด็นอะไรบ้าง ถือว่าเป็นประโยชน์จากการที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทำให้เราแน่ใจว่า เราไม่ได้ลืมอะไรไป ทำให้ กนง.ดูได้รอบคอบ" นายปิติ กล่าว
พร้อมย้ำว่า ได้มีการหารือกันตลอดทั้งฝั่งผู้ดูแลนโบายการเงิน กับผู้ดูแลนโยบายการคลัง โดยมีการพิจารณาข้อดี-ข้อเสีย ของเครื่องมือแต่ละตัว เพราะบทบาทของแต่ละเครื่องมือ ก็มีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกัน
"สิ่งที่ควรจะเป็น คือให้แต่ละเครื่องมือทำหน้าที่ที่เขาเก่งที่สุด เหมาะที่สุดกับเครื่องมือนั้น เรา ภาครัฐ และ กนง.มีจุดประสงค์เดียวกัน คือให้เศรษฐกิจไทยขายตัวเต็มศักยภาพ ยั่งยืน การแก้ปัญหาที่เราทำได้ คือช่วยให้พื้นฐานเศรษฐกิจมีเสถียรภาพด้านการเงิน มีความพอดี เราสอดคล้องกันในภาพรวม แต่แลกเปลี่ยนกันได้ว่าจะเอียงไปทางไหนมากกว่า เราคุยกันในหลายระดับ" นายปิติ ระบุ

ส่วนกรณีที่มีการมองว่าการลดดอกเบี้ย จะช่วยกระตุ้นการบริโภค ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจไปพลาง ช่วยชดเชยในช่วงที่เงินงบประมาณยังไม่ลงมานั้น นายปิติ มองว่า ในปัจจุบัน การบริโภคในประเทศเติบโตได้ดีอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยอาจจะไม่สามารถหวังผลได้มาก หากไปเร่งการบริโภคมากขึ้น อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุล เปรียบเหมือนไปเร่งเครื่องยนต์ที่กำลังทำงานอย่างเต็มสูบอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี การที่ กนง.ไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจของ กนง.จะเป็นแนวทางนี้ไปตลอด เพราะการประชุมรอบหน้า ก็ย่อมมีปัจจัยใหม่เข้ามามากขึ้นในการประกอบการพิจารณาตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย

"การบริโภคโตดีอยู่แล้ว ประโยชน์ในภาพรวมเห็นไม่ชัด อาจะเกิดความไม่สมดุลที่เราไปเพิ่มเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำลังทำงานหนักอยู่แล้ว เหมือนไปเร่งเครื่องกับเครื่องยนที่ทำงานเต็มสูบอยู่แล้ว อาจจะเริ่มโอเวอร์ฮีทด้วยซ้ำ อาจจะทำให้ไม่สมดุล ระยะยาวไม่ยั่งยืน ถ้าแก้ไม่ตรงจุด เป็นการชั่งน้ำหนักที่ยาก ตอนนี้ไม่มีอะไรปักหมุดว่าจะยืนแบบนี้ไปเรื่อยๆ รอบหน้าก็มาดูข้อมูล ที่จะได้เพิ่มอีกเยอะ จีดีพีปี 66 เงินเฟ้อ ส่งออก มาประเมินใหม่ ว่าการชั่งน้ำหนักจะเปลี่ยนไปไหม เรา open ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป" นายปิติ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ