เม็ดเงินลงทุนก่อสร้างปี 67 โตชะลอ คาดโครงการภาครัฐเริ่มเบิกจ่าย H2

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 14, 2024 17:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เม็ดเงินลงทุนก่อสร้างปี 67 โตชะลอ คาดโครงการภาครัฐเริ่มเบิกจ่าย H2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมปี 2567 จะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.9% จากปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 8% ของ GDP ทั้งนี้ แม้มูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวมในปีนี้จะฟื้นตัวได้ แต่อัตราการเติบโตยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 57-61) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 4.1%

สำหรับมูลค่าการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งมีสัดส่วน 57% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม คาดว่าจะเติบโตที่ 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามูลค่าการลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปีอาจยังหดตัว แต่น่าจะกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากงบประมาณประจำปี 2567 ที่คาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

โดยโครงการก่อสร้างภาครัฐสำคัญที่มีแผนจะดำเนินการในปีนี้ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ขอนแก่น-หนองคาย, โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี เป็นต้น

ขณะที่การลงทุนก่อสร้างภาคเอกชน ซึ่งมีสัดส่วน 43% ของมูลค่าการลงทุนก่อสร้างรวม น่าจะเติบโตชะลอลงที่ 1.5% เทียบกับ 3.9% ในปีก่อน เป็นผลหลักจากการก่อสร้างโครงการเชิงพาณิชย์และพื้นที่ค้าปลีกที่มีเม็ดเงินลงทุนสูง เช่น โครงการ Mixed-use ห้างสรรพสินค้า ซึ่งสอดคล้องไปกับข้อมูลของ CBRE ที่รายงานว่า อุปทานพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 2.9% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2567

ส่วนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ ตามการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีปริมาณอุปทานสะสมในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่า 200,000 หน่วยมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความสามารถในการซื้อที่ลดลง ท่ามกลางความเข้มงวดในการให้สินเชื่อ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังมีต้นทุนการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 2-16 บาท ไปอยู่ที่ 330-370 บาท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.67 เป็นต้นมา และมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกรอบภายในปีนี้ ทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่พึ่งพิงการใช้แรงงานสูง น่าจะมีต้นทุนการจ้างงานสูงขึ้นด้วย
  • ต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่อยู่ในระดับสูง สะท้อนได้จากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างรวมเฉลี่ยในช่วงปี 2565-2566 ที่เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2563-2564 ประมาณ 10% ในปี 2567 แม้ว่าในดัชนีราคาสินค้าหลัก อย่างเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจะย่อลง จากอุปสงค์ที่ยังชะลอตัว แต่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงโควิด-19

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ