ครม.ผ่านแผนการคลังระยะปานกลาง เพิ่มงบขาดดุลปี 68 อีก 157,200 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2024 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมผล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง โดยมีการปรับงบขาดดุลปีงบประมาณ 68 เพิ่มขึ้น 157,200 ล้านบาท จากเดิมตั้งไว้ 713,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จะมีการนัดประชุม 4 หน่วยงานทำงบปี 68 ภายในสัปดาห์นี้ ก่อนจะนำเสนองบประมาณปี 68 เข้าครม.ในสัปดาห์หน้า (9 เม.ย.) ตามกรอบวงเงินเดิม 3.6 ล้านล้านบาท แต่จะมีขั้นตอนการปรับปรุงรายละเอียด และปรับปรุงกรอบวงเงินต่างๆ ให้ครม.อีกครั้งหนึ่ง

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบ "แผนการคลังระยะปานกลาง" (ปีงบประมาณ 68-71) ที่ได้ปรับเพิ่มวงเงินการขาดดุลงบประมาณ ในปีงบ 68 ขึ้นอีก 157,200 ล้านบาท เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนหน้าที่ได้จัดทำแผนการคลังฯ ไว้เมื่อปี 2566 โดยพบว่าเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ อีกทั้งยังเผชิญปัญหาจากทั้งปัจจัยต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า รวมทั้งปัจจัยในประเทศ คือ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตได้สูงกว่าศักยภาพ ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน จึงต้องมีการทบทวนแผนการคลังระยะปานกลางใหม่ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจไทย สามารถพร้อมรับกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และสามารถวางแผนด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณของประเทศได้อย่างเหมาะสม

นายชัย กล่าวว่า ตามแผนการคลังระยะปานกลาง ได้มีการปรับประมาณเศรษฐกิจไทยในปี 67 ลงเหลือโต 2.7% จากเดิม 3.2% รวมทั้งปรับลดประมาณการ GDP ในระยะ 5 ปีข้างหน้า 68-71 ลงเฉลี่ยปีละประมาณ 0.5% จากแผนเดิม ซึ่งเมื่อประมาณการเศรษฐกิจปรับลดลง จึงจำเป็นต้องปรับแผนการคลังใหม่ โดยการเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นมากที่อยู่ในแผนรายจ่ายของงบประมาณปี 2568 ซึ่งจากเดิมตั้งไว้ที่ 3.66 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 3.75 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 157,200 ล้านบาท นอกนั้นแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

"ในปีงบ 68 ตามแผนระยะปานกลาง จะขาดดุลการคลัง 865,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 157,200 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลเพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพี 66.93% เปลี่ยนจากเดิมเล็กน้อย เฉลี่ยบวก/ลบ อยู่ที่ประมาณ 66% ต่อจีดีพีในแต่ละปี...มีการคำนวณไว้ว่า ตั้งแต่ปี 69-70-71 กรอบวงเงินกู้ที่จะใช้ได้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 69 กรอบเงินกู้ที่จะสามารถกู้ได้ตามกติกา ยังเหลือ 1.5 แสนล้านบาท ปี 70 อยู่ที่ 1.95 แสนล้านบาท และปี 71 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านบาท แผนการคลังจะมีแค่ปี 68 ปีเดียวที่เพิ่ม (เพิ่มการขาดดุล)" นายชัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงแผนรายจ่ายในปีงบ 68 จะไม่ส่งผลให้หนี้สาธารณะปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่ากรอบวินัยการเงินการคลังตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต้องไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี โดยมีการประเมินไว้เบื้องต้นว่า ปี 69-71 หนี้สาธารณะในแต่ละปีจะไม่เกิน 67% ต่อจีดีพี ส่วนดุลการคลัง ที่จะขาดดุลได้ไม่เกิน 3% ต่อจีดีพีนั้น ตามแผนการคลังระยะปานกลางนี้ จะเข้าสู่สมดุลการคลังได้ในปี 71

โฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลางตามนี้แล้ว เศรษฐกิจไทยหลังจากปี 68 เป็นต้นไปจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3% แต่จะบวกได้มากแค่ไหน ต้องติดตามพัฒนาการในแต่ละช่วง

"ในแผนการคลังระยะปานกลาง ยังไม่ได้พูดถึงรายละเอียด (การนำไปใช้) พูดแค่กรอบวงเงิน ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพมาก กระทรวงการคลังมองว่า ภาวะการเงินการคลังของประเทศจะไปสู่จุดสมดุลได้ ต้องทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตเหนือกว่าค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา และเหนือกว่าการขยายตัวตามศักยภาพ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใส่งบเข้ามาในปี 68" นายชัยระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ