ภาวะตลาดเงินบาท: ปิด 36.71 อ่อนค่าสอดคล้องภูมิภาค ตลาดรอปัจจัยใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 3, 2024 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้ อยู่ที่ระดับ 36.71 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจาก ช่วงเช้าเปิดตลาดที่ระดับ 36.62 บาท/ดอลลาร์

ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 36.61-36.72 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทอ่อนค่าตามสกุลเงินอื่นในภูมิภาค วันนี้ ตลาดยังไม่มีปัจจัยใหม่ ยังเป็นเพียงการรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเอกชนเดือนมี.ค. จาก ADP และดัชนีภาคบริการเดือนมี.ค. จาก ISM

"วันนี้เงินบาทอ่อนค่าตามภูมิภาค ยังคงเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 5 เดือนเท่าเดิม ระหว่างวันยังไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ๆ รอดู ตัวเลขจาก ADP และ ISM คืนนี้" นักบริหารเงิน ระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทพรุ่งนี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 36.50 - 36.75 บาท/ดอลลาร์

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยน อยู่ที่ระดับ 151.73 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเช้าที่ระดับ 151.63 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโร อยู่ที่ระดับ 1.0768 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเช้าที่ระดับ 1.0766 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ 1,375.69 จุด ลดลง 3.77 จุด (-0.27%) มูลค่าซื้อขาย 41,806.63 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,581.61 ล้านบาท
  • คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คงคาดการณ์ GDP ของไทยปีนี้ไว้ที่ 2.8-3.3% การส่งออก คาดว่า
ขยายตัว 2.0-3.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อ อยู่ที่ 0.7-1.2% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของ
ไทย ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ ขณะที่ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มทวีความ
รุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า
  • ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า ตลาดคาดการณ์ว่า ในปีนี้คณะกรรมการนโยบาย
การเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง รวมลดลง 0.50% แต่จะปรับลดในการประชุม วันที่ 10 เม.ย. นี้เลยหรือไม่ คงต้องรอ
ติดตามการประชุมก่อน ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 2.50%
  • ซิตี้กรุ๊ปปรับลดมุมมองที่มีต่อภาคธนาคารของไทยลงสู่ "เชิงลบ" (Bearish) จาก "เป็นกลาง" (Neutral) โดย
พิจารณาจากการคาดการณ์ที่ว่า การปรับตัวลงของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin - NIM) จะสร้างแรงกดดันต่อ
ผลประกอบการของภาคธนาคารไทย
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาซานฟรานซิสโก และประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ ยัง
คงคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้งในปีนี้ แม้ทั้ง 2 คน จะมีความเห็นว่าเฟดไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการดังกล่าวก็
ตาม โดยทั้ง 2 คน ต่างก็เป็นกรรมการที่มีสิทธิ์ออกเสียงในการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดในปีนี้
  • รมว.คลังสหรัฐ เตรียมเดินทางเยือนจีนในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็นการเยือนจีนครั้งที่สองในรอบ 9 เดือน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับ
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มากเกินไปของจีน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก
  • ผลผลิตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ฟื้นตัวเต็มศักยภาพเป็นครั้งแรกในรอบประมาณ 4 ปีในไตรมาส 4/2566 ซึ่งส่งสัญญาณเชิง
บวกว่าอาจหนุนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง
  • อัตราเงินเฟ้อของตุรกีเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน เกือบแตะที่ 70% ในเดือนมี.ค. โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.5% แม้ว่า

จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่หลายครั้งก็ตาม โดยธนาคารกลางตุรกี (CBRT) จะรักษามาตรการคุมเข้มทางการเงินไว้ จนกว่า

เงินเฟ้อจะส่งสัญญาณปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ