กกร.หั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.2-2.7% คาดส่งออกชะลอ เร่งรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 8, 2024 12:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กกร.หั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.2-2.7% คาดส่งออกชะลอ เร่งรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ

ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดประมาณการ GDP ไทยปี 67 มาที่ 2.2-2.7% เนื่องจาก มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิม จากภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้เพียง 0.5-1.5% ตามทิศทาง การค้าโลกที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกัน ยังปรับลดประมาณการเงินเฟ้อมาที่ 0.5-1%

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.

          %YoY        ปี 67 (ณ มี.ค.67)    ปี 67 (ณ เม.ย.67)   ปี 67 (ณ พ.ค.67)
          GDP            2.8-3.3%          2.8-3.3%            2.2-2.7%
          ส่งออก          2.0-3.0%          2.0-3.0%            0.5-1.5%
          เงินเฟ้อ         0.7-1.2%          0.7-1.2%            0.5-1.0%
กกร.หั่น GDP ปีนี้เหลือโต 2.2-2.7% คาดส่งออกชะลอ เร่งรัฐกระตุ้นกำลังซื้อ

กกร. มองว่า การค้าโลกในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลด คาดการณ์การค้าโลกปี 67 จากเดิมที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% เหลือ 3% และปรับลดคาดการณ์การส่งออกของประเทศ Emerging Markets จากเดิมโตได้ 4.1% เหลือ 3.7%

โดย IMF ประเมินว่า ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-อิหร่าน ที่ยกระดับขึ้นจะกระทบต่อ ปริมาณการค้าโลก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือเป็นปัจจัยลบต่อแนวโน้มการส่งออกสินค้าของไทยในระยะข้างหน้า ทำให้คาดว่าการส่งออกจะเติบโต ได้น้อยกว่าที่คาดไว้เดิม

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ชะลอตัวจากการส่งออกสินค้าและการผลิตที่ฟื้นตัวได้ช้า มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสแรกของปี ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาเชิงโครงสร้างและการค้าโลกที่เติบโตได้จำกัด ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก

นอกจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ 1. ความผันผวนของค่าเงิน ตามการเปลี่ยนแปลง ของแนวโน้มนโยบายการเงินสหรัฐฯ และ 2. การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2567 ที่เริ่มเบิกจ่ายได้จะช่วยหนุนการเติบโตของกิจกรรม ทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้

ทั้งนี้ กกร.เห็นว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีมาตรการ สนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวจากยุโรปและตะวันออกกลางมีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของ สงคราม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งปีจะยังอยู่ที่ราว 35 ล้านคน ตามที่คาดไว้เดิม เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากเอเชียมี การฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) กล่าวว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในขณะนี้ เป็นช่วงเวลาเหมาะสมอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะได้หันหน้ามาหารือกัน เพื่อหาแนวทางแก้ไข เพราะเครื่องยนต์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ เดินหน้าต่อไปได้มีเพียง 2 ตัว คือ การท่องเที่ยว และ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

"อยากให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา โดยเอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง หากยังมีความเห็นขัดแย้งกันก็จะแก้ไข ปัญหาไม่ได้เต็มที่" นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นั้น ผู้ประกอบการทุกคนต้องอยากให้ลดลงอยู่แล้ว เพราะช่วยลดต้นทุน แต่จะให้ลดลงมาเท่า ไหร่นั้นคงตอบไม่ได้

*หวังรัฐบาล-แบงก์ชาติเคลียร์ปมขัดแย้ง หาทางออกร่วมกัน

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กกร.เป็นองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ยุ่ง เกี่ยวกับการเมือง มุ่งแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ กรณีรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความขัดแย้งกันนั้น หากมีการพูดคุยกัน ดีๆ น่าจะหาทางออกร่วมกันได้ เพราะหวังทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติเหมือนกัน เพียงแต่มีมุมมองแตกต่างกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ