คลังแนะใช้นโยบายเพิ่มรายได้ก่อนที่ ศก.ไทยจะเข้าสู่ภาวะ stagflation

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 25, 2008 15:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่ได้เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Stagflation หรือภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อสูง เนื่องจากเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ยังสามารถขยายตัวได้ดี แต่ก็เห็นว่าภาครัฐควรจะเร่งเพิ่มรายได้ก่อนที่จะปัญหาเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบไปมากกว่านี้
ล่าสุด สศค.ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปีนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.2% จากเดิม 4.3-4.8% จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสศค.ได้ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้เพิ่มเป็น 116.0 เหรียญ/บาร์เรล จากเดิม 90-95 เหรียญ/บาร์เรล จึงจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ (Income Policy) เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
นายคณิศ กล่าวว่า กลุ่มที่รัฐบาลควรจะเข้าไปช่วยเหลือ คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย, ข้าราชการ และผู้เกษียณอายุ ที่ควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 5-6% ส่วนกลุ่มเกษตรกรแม้จะเป็นฐานประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ขณะนี้ถือว่ามีรายได้ดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ดังนั้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือมากนัก
ส่วนความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้อาจปรับขึ้นไปสูงเป็นตัวเลข 2 หลักนั้น นายคณิศ กล่าวว่า หากอัตราเงินเฟ้อขึ้นไปถึง 2 หลักจริง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะต้องปรับขึ้นไปถึง 160-165 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลังนี้จะต้องติดตามราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงกรณีที่รัฐบาลส่งเสริมให้ใช้น้ำมัน E85 และไบโอดีเซลว่าจะเกิดขึ้นเร็วเพียงใด
"ถ้าน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นไปถึง 160 เหรียญ/บาร์เรล จะทำให้น้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศเพิ่มไปที่ 50 บาท/ลิตร ดังนั้นหากช่วงครึ่งปีหลังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง เชื่อว่ายังไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยกเว้นเรื่องราคาน้ำมัน ดังนั้น จากนี้ไปรัฐบาลคงต้องมาดูแลการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น"นายคณิศ ระบุ
ด้านนางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)กล่าวว่า การใช้ Income Policy ในส่วนของนโยบายการคลังนั้น สศค.ได้ทำอย่างเต็มที่ทั้งมาตรการภาษี, การให้เงินชดเชยแก่ผู้มีรายได้น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การใช้นโยบายการเงินในการเข้ามาดูแลอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งคงไม่สามารถตอบแทนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ว่าจะดำเนินนโยบายอย่างไร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ