พาณิชย์ส่งสัญญาณปรับขึ้นนมกล่อง หลังครม.ไฟเขียวตามปรับราคาน้ำนมดิบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 29, 2008 20:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบเป็น กก.ละ 18 บาท จากเดิม 14.50 บาทว่า ต้นสัปดาห์หน้าจะเชิญประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์นม เพื่อพิจารณาต้นทุนการผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปหลังน้ำนมดิบขึ้นราคา 
รวมถึงจะพิจารณากรณีที่ผู้ผลิตนมหลายบริษัททำเรื่องขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายเข้ามาด้วย ซึ่งการปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนการผลิตนมกล่องทั้งแบบพาสเจอร์ไรซ์ และยูเอชทีปรับขึ้นกล่องละประมาณ 1 บาท
"เมื่อน้ำนมดิบปรับขึ้น ก็คงต้องให้ผลิตภัณฑ์นมที่ใช้น้ำนมดิบในประเทศเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตปรับขึ้นราคาตามไปด้วย เพื่อให้ผู้ผลิตอยู่ได้และสินค้าไม่ขาดแคลน ส่วนผู้ผลิตนมอื่นๆ ที่ใช้นมผงเป็นวัตถุดิบหลักอาจจะยังไม่พิจารณาให้ปรับขึ้นราคาในขณะนี้" นายยรรยง กล่าว
ส่วนการปรับขึ้นราคาน้ำมันพืชบรรจุขวดทั้งน้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์ม ภายในวันที่ 1 ส.ค.นั้น นายยรรยง กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ว่าจะอนุมัติให้ขึ้นได้หรือไม่ เพราะนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รมช.พาณิชย์ ในระหว่างรักษาการ รมว.พาณิชย์ ขอให้ชะลอการปรับราคาก่อน และยืนยันว่าผู้ผลิตจะต้องขายราคาเดิมไปก่อนจนกว่าจะได้รับการอนุมัติให้ปรับราคาใหม่
ส่วนในวันที่ 31 ก.ค.นี้ กรมฯ จะเชิญผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทุกราย เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ซักล้าง เป็นต้น มาหารือถึงสถานการณ์ต้นทุนการผลิต โดยจะเชิญสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย มาด้วยเพื่อให้ทราบสถานการณ์ที่แท้จริงก่อนพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาหรือไม่
ด้านนายเศรษฐสรร เศรษฐการุณย์ นายกสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว เรียกร้องให้กรมการค้าภายในอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาขายตามมติคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันถั่วเหลืองที่จะปรับขึ้นขวดละ 4.50 บาท จาก 49.50 บาท เป็น 54 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้เป็นต้นไป ไม่เช่นนั้นผู้ผลิตจะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้อีกต่อไป และอาจต้องชะลอการผลิตน้ำมันพืชบรรจุขวด
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้ การผลิตน้ำมันพืชบรรจุขวดจะน้อยลง เพราะผู้ผลิตไม่อยากขาดทุน แต่จะหันไปทำตลาดที่ไม่มีข้อจำกัดแทน เช่น การบรรจุปี๊บ การผลิตน้ำมันเพื่อขายให้อุตสาหกรรมการผลิตอื่นๆ เพราะไม่ถูกควบคุมราคา รวมทั้งหันไปเพิ่มการส่งออกไปขายต่างประเทศแทน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ