(เพิ่มเติม) "ดร.โกร่ง"ระบุเป้าหมายใหม่บริหาร ศก.ต้องคำนึงถึงเงินทุนไหลเข้า-ออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 13, 2008 12:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในการสัมมนา"รู้ทันเงินเฟ้อรู้ทันอนาคต"ว่า การบริหารเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านเงินทุนไหลเข้า-ออกเพิ่มขึ้นมาอีกเป้าหมายหนึ่งด้วย นอกเหนือจากในอดีตที่มีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน
การขยายตัวทางเศรษฐกิจมีความสำคัญและถือเป็นดัชนีในการสร้างความเชื่อมั่นของสาขาเศรษฐกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อมั่นด้านการลงทุน, ตลาดเงิน, ค่าเงิน ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพจะต้องเป็นการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ
ส่วนเงินเฟ้อนั้นมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าทั้งระยะปานกลางและระยะยาว เงินเฟ้อมีส่วนที่จะดึงหรือรั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ เพราะถ้าไม่มีเงินเฟ้อก็จะไม่มีตัวกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
สำหรับกรณีของค่าเงินนั้น จะต้องดูแลให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ซึ่งความมั่นคงของค่าเงินนั้นมีรากฐานมาจากการรักษาดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดให้อยู่ในระดับที่พอดี
นายวีรพงษ์ กล่าวต่อว่า การดูแลเศรษฐกิจมหภาคในอดีตอาจคำนึงถึงเป้าหมายสำคัญเพียง 3 ตัวดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ในปัจจุบันจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้า-ออก ด้วย และเป็นหน้าที่ที่ทางการจะต้องดูแลให้การไหลเข้า-ออกของเงินทุนมีความสม่ำเสมอ ไม่มากไม่น้อยจนเกิดปัญหา
“ในโลกยุคใหม่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือการเคลื่อนย้ายเงินทุน เพราะบางประเทศขาดดุลการค้ามากยังไม่เป็นไร เพราะมีเงินทุนไหลเข้า แต่บางประเทศเงินทุนสำรองมาก แต่ก็มีปัญหาจากเงินทุนไหลออกมาก ดังนั้นเป็นหน้าที่ที่ทางการต้องดูแลให้การไหลเข้า-ออก ของเงินทุนมีความสม่ำเสมอ" นายวีรพงษ์ ระบุ
นายวีรพงษ์ ให้ความเห็นว่า เป้าหมายการบริหารเศรษฐกิจมหภาคทั้ง 4 ตัวไม่ได้มีความเป็นอิสระแก่กัน ในทางตรงกันข้ามปัจจัยทั้งหมดมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันซึ่งจะเน้นเป้าใดเป้าหนึ่งเพื่อนำมาใช้เป็นหลักในการบริหารเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้เลย ต้องดูแลทั้งหมดไปพร้อมกัน เพราะถ้าเสียเป้าหมายใดไปแล้วอาจทำให้เป้าหมายอื่นเสียไปได้
แต่ปัญหาขณะนี้คือมีหน่วยงานที่ดูแลแต่ละเป้าหมายแตกต่างกันไป และขาดการประสานงานซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีผู้ประสานงานที่คอยดูแลและตกลงกันให้ได้ว่าควรจะใช้เป้าหมายใด ในเวลาใดจึงจะเหมาะสม
“สูตรสำเร็จคงไม่มี อยู่ที่ว่าทุกฝ่ายมองไปข้างหน้าแล้วเห็นภาพเดียวกันหรือไม่ หรืออาจเห็นคนละภาพ หากทุกฝ่ายเห็นภาพเดียวกัน อยู่ที่ว่าการทำงานด้านเศรษฐกิจของทุกฝ่ายเข้าใจตรงกันหรือไม่ ถ้าตรงกันก็ดี จะได้ดูว่าแต่ละช่วงควรดำเนินการอย่างไร ปัญหาต่อมาคือการเลือกเครื่องมือ หรือนโยบายที่เหมาะสม" นายวีรพงษ์ กล่าว
นายวีรพงษ์ ยังเห็นว่า นโยบายการคลังเปรียบเหมือนยาหม้อที่ใช้แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งออกฤทธิ์ช้าแต่ไม่มีผลข้างเคียง ขณะที่นโยบายการเงินเห็นผลเร็วแต่ผลข้างเคียงค่อนข้างรุนแรง ดังนั้นในการเลือกใช้นโยบายการเงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะบางทีอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ