นักวิเคราะห์ติงแผนกู้วิกฤติการเงินสหรัฐดันยอดหนี้พุ่ง-นลท.ต่างชาติถอนสินทรัพย์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 23, 2008 17:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ข้อเสนอให้มีการใช้มาตรการกระตุ้นเสถียรภาพในระบบการธนาคารเป็นวงเงินถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของนายเฮนรี่ พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ อาจทำให้ตัวเลขหนี้สินในประเทศพุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2497 ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติไม่ต้องการเข้าซื้อพันธบัตรในสหรัฐ
บรรดานักวิเคราะห์แสดงทัศนะว่า มาตรการซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินที่รัฐบาลได้เรียกร้องให้ทางสภาคองเกรสเห็นชอบให้มีการบังคับใช้นั้นจะส่งผลให้ตัวเลขหนี้สินในสหรัฐพุ่งขึ้นไปเหนือระดับ 70% ของตัวเลขผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) และทำให้สหรัฐมียอดขาดดุลบัญชีพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์จนอาจขยายตัวเกินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า สหรัฐ ซึ่งมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญความเสี่ยง จากสถานการณ์ดอกเบี้ยที่ส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรจนบั่นทอนความต้องการถือครองสินทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เมื่อวานนี้ เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนักสุดเมื่อเทียบกับเงินยูโรนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542
ด้านตลาดพันธบัตรสหรัฐเคลื่อนไหวอย่างซบเซาในช่วง 2 วันที่ผ่านมา หลังจากที่รมว.สหรัฐได้ออกมากล่าวเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า สหรัฐจำเป็นต้องมีแผนกู้วิกฤตการเงิน อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีขยับขึ้น 0.29% แตะที่ระดับ 3.84% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 ปีไต่ระดับขึ้น 0.47% เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 ปี
อย่างไรก็ดี นายพอลสันอาจให้คำตอบถึงผลกระทบในการใช้แผนการดังกล่าวในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ โดยเขากำลังขอให้สภานิติบัญญัติขยายเพดานหนี้สินของประเทศสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐจากระดับปัจจุบันนี้ที่ 10.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้สินโดยรวมของสหรัฐในปีนี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขหนี้สินสาธารณะและหนี้สินภาครัฐพุ่งแตะที่ประมาณ 9.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 68% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ