(เพิ่มเติม) วุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์แล้ว

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 2, 2008 09:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          วุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 74 ต่อ 25 ให้อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์แล้ว หลังจากสภาคองเกรสไม่ผ่านแผนการดังกล่าวไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยการลงมติครั้งนี้มีขึ้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน รวมถึงนายบารัค โอบามา และนายจอห์น แมคเคน ก็ออกเสียงสนับสนุนแผนการดังกล่าวด้วย 
แผนฟื้นฟูภาคการเงินฉบับนี้ได้มีการเพิ่มเติมเนื้อหาบางส่วน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มค้ำประกันวงเงินฝากธนาคารที่ได้รับการค้ำประกันโดยบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) จากเดิมที่ 100,000 ดอลลาร์ เป็น 250,000 ดอลลาร์ อีกทั้งการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งการเพิ่มเงื่อนไขดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะดึงดูดคะแนนเสียงจากสมาชิกสภาคองเกรส โดยเฉพาะในฝั่งพรรครีพับลิกันซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการคว่ำแผนฟื้นฟูเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ แผนฟื้นฟูฉบับที่ผ่านการอนุมัติจากวุฒิสภายังรวมถึงการทบทวนมาตรการลดหย่อนภาษี การให้หน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินการวิจัยและพัฒาด้านความเชื่อถือภาคเอกชน
ทั้งนี้ สภาคองเกรสจะนำแผนฟื้นฟูภาคการเงินฉบับที่มีการเพิ่มเติมเงื่อนไขใหม่แล้วนี้มาพิจารณาอีกครั้งในวันศุกร์ ซึ่งหากผ่านจากมติสภาคองเกรสรอบสองนี้ ก็เท่ากับสภานิติบัญญัติสหรัฐได้เข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจครั้งสำคัญที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในสหรัฐ หรือ Great Depression
แฮร์รี่ รี้ด ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภา สังกัดพรรคเดโมแครตกล่าวว่า "หากเราไม่ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินในวันนี้ เราคงต้องเผชิญวิกฤตการณ์ที่รุนแรงอย่างแน่นอน และชาวอเมริกันทั่วประเทศจะไม่ได้รับเงินบำเน็จบำนาญ และธุรกิจขนาดเล็กจะไม่สามารถจ้างงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนของสหรัฐจะไม่สามารถเข้าถึงวงเงินกู้ได้มากพอที่จะซื้อรถยนต์หรือบ้าน"
สำหรับแผนการของกระทรวงการคลังที่ยื่นต่อสภาคองเกรสและวุฒิสภานั้น ครอบคลุมถึงการอนุญาตให้กระทรวงการคลังซื้อสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการจำนอง ทั้งเพื่อการอยู่อาศัยและเชิงพาณิชย์ในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวจะต้องออกโดยสถาบันการเงินที่มีการดำเนินงานในสหรัฐก่อนวันที่ 17 ก.ย.ปีพ.ศ.2551 แต่เงื่อนไขนี้อาจได้รับการยกเว้น หากจำเป็นต้องส่งเสริมเสถียรภาพทางการเงิน
นอกจากนี้ แผนการดังกล่าวยังครอบคลุมถึงการให้อำนาจในวงกว้างแก่กระทรวงการคลังในการตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางในการซื้อ จัดการ และขายสินทรัพย์ ซึ่งรวมถึงผ่านกองทุนพิเศษ และระบุชื่อสถาบันการเงินที่ดำเนินการสำหรับกองทุนดังกล่าว โดยการขอสิทธิอำนาจเหล่านี้ก็เพื่อรับประกันความมีเสถียรภาพ หรือป้องกันความผันผวนในตลาดการเงินและปกป้องผู้เสียภาษี สำนักข่าว CNN รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ