นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของอินโดนีเซียแสดงความเชื่อมั่นว่า อินโดนีเซียจะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างในปี 2540-2541 "เศรษฐกิจอินโดนีเซียแข็งแกร่งกว่าแต่ก่อนเนื่องจากได้รับบทเรียนมามากจากวิกฤตครั้งก่อน" ไฟซัล บาสรี นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและการเงิน กล่าว อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบหนักสุดจากวิกฤตการเงินในเอเชียเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าลงจาก 2,000 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์ เป็น 18,000 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์ภายในเวลา 2 ปี ขณะที่เศรษฐกิจหดตัวลง 13.7% นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้กล่าวว่า สัดส่วนของสินเชื่อระยะสั้นกับเงินสำรองต่างประเทศอยู่ที่ 175% ในปี 2540 ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 34.5% ซึ่งหมายความว่าอินโดนีเซียสามารถปล่อยสินเชื่อระยะสั้นได้อย่างปลอดภัยแล้ว "ในปี 2540 ระบบธนาคารในประเทศยังผันผวน แต่ตอนนี้มีเสถียรภาพแล้ว และเมื่อพิจารณาจากสภาพการเมืองและการทำธุรกิจ ถือว่าอินโดนีเซียค่อนข้างมีเสถียรภาพเลยทีเดียว" นายไฟซัล กล่าว ดังนั้น นายไฟซัลจึงมั่นใจว่าวิกฤตการเงินโลกจะส่งผลกระทบเฉพาะต่อตลาดหุ้นและตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เขาเตือนว่าในที่สุดอินโดนีเซียอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวอาจกดดันให้จีนต้องลดการส่งสินค้าไปยังสหรัฐและหันมาส่งให้ประเทศอื่นๆ รวมถึงอินโดนีเซียแทน ดังนั้น "อินโดนีเซียต้องควบคุมมิให้มีการนำเข้าสินค้าที่ไม่จำเป็น" นอกจากนั้นรัฐบาลควรหันไปให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมในท้องถิ่นแทน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตหวาย ไม้ ชา กาแฟ โกโก้ และน้ำมันปาล์ม การกล่าวแสดงความคิดเห็นของนายไฟซัลมีขึ้นหลังจากที่ประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโดโยโน ออกแถลงการณ์ว่าอินโดนีเซียควรใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศให้เต็มที่ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้เสนอแผน 10 ขั้นตอนในการหลีกเลี่ยงผลกระทบในแง่ลบจากวิกฤตการเงินโลก อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเชื่อว่ารัฐบาลยังต้องอาศัยมาตรการเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมเพื่อปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ สำนักข่าวซินหัวรายงาน