อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ในเอเชียดีดตัวขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 วันนี้ เนื่องจากความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตสินเชื่อว่าจะฉุดเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ได้บดบังความพยายามของทางการที่เข้ามากระตุ้นการปล่อยกู้
อัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงค์ระยะเวลา 3 เดือนของฮ่องกง หรือ Hibor เพิ่มขึ้น 0.10% แตะ 3.84% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยต้นทุนด้านไฟแนนซ์ของออสเตรเลียก็ปรับตัวขึ้นติดต่อกันมา 5 วันแล้ว ส่วนอัตราสว็อปข้ามสกุลเงินระยะเวลา 1 ปีของเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย นับเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า มาตรการช่วยเหลือภาคการธนาคาร 1.30 แสนล้านดอลลาร์ และการลดดอกเบี้ยลงมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเงินดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างใด
บลูมเบิร์กรายงานว่า ซูเรช คูมาร์ รามานาทัน นักยุทธศาสตร์ด้านเงินตราของซีไอเอ็มบี อินเวสเมนท์ แบงค์ กล่าวว่า ปัญหาการระดมทุนเป็นเงินดอลลาร์ยังคงมีอยู่ และปัญหาการปล่อยกู้ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ขณะนี้เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหา เนื่องจากเราเผชิญอยู่กับทั้งสถานการณ์วิกฤตการธนาคาร ภาวะถดถอย ราคาน้ำมัน และตลาดหุ้นที่ร่วงลง รวมทั้งการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดเกิดใหม่ที่ประเดประดังกันมาในรอบ 1 ปี
ตลาดหุ้นและสกุลเงินในเอเชียร่วงลง หลังจากที่ธนาคารแบงค์ ออฟ อีสต์ เอเชีย ได้ประกาศตัวเลขขาดทุนจากการถือหนี้เสีย ส่วนธนาคารกัลฟ์ แบงค์ เคเอสซี ของคูเวตก็มีปัญหาเช่นกัน ตลาดสินเชื่อเองก็ประสบภาวะชะงักงันหลังจากที่เลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ ล้มละลาย จนทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกให้คำมั่นเรื่องการช่วยเหลือภาคการธนาคารและฟื้นฟูการปล่อยกู้