กสิกรฯชี้"โอบามา"รับโจทย์หนักเฉพาะหน้ากู้วิกฤติการเงินแรงสุดรอบ 80 ปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 5, 2008 18:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่อาจต้องเผชิญกับความคาดหวังที่สูงขึ้นท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งถูกประเมินว่าอาจมีความรุนแรงมากที่สุดในรอบเกือบ 80 ปี

ทั้งนี้ยังเชื่อว่าโจทย์เฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจและการเงินที่ผู้นำสหรัฐฯ จะต้องเร่งทำอย่างต่อเนื่องคือ มาตรการแก้ไขภาคการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงที่เป็นมิตรต่อตลาดการเงินและเอื้อต่อการฟื้นคืนความเชื่อมั่นของนักลงทุน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินของสหรัฐฯ ที่กำลังประสบกับภาวะชะงักงันกลับมาทำงานได้เป็นปกติให้เร็วที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

ส่วนนโยบายกีดกันทางการค้าที่หลายประเทศผู้ส่งออกในเอเชียต่างแสดงความกังวลนั้น เชื่อว่าจะเป็นความสำคัญในลำดับรองลงไปของผู้นำสหรัฐฯ เพราะคงจะตระหนักว่าการดำเนินนโยบายในเชิงกีดกันการค้าระหว่างประเทศเพื่อจะปกป้องอุตสาหกรรมภายในท่ามกลางภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลก อาจไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

"ในระยะอันใกล้นี้ ภาคส่งออกของไทยและเอเชียอาจจะยังไม่เผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในระดับที่รุนแรงมากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ตระหนักดีว่าจำต้องพึ่งประเทศในเอเชียมากขึ้นในการระดมเงินเพื่อรองรับการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่อาจจะสูงเกิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปีหน้า" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มาตรการในระยะสั้นของนายโอบามาคงมุ่งเน้นไปที่การดูแลภาคเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและภาวะการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ โดยคาดว่ามาตรการที่เอื้อประโยชน์ทางภาษีต่อประชาชนที่มีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำจะถูกเร่งผลักดันออกมาเป็นลำดับต้นก่อน ขณะที่การเขียนกติกาใหม่ให้กับระบบการเงิน โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินให้มีความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้นั้นคงจะเป็นเป้าหมายถัดไปหลังจากปัญหาในตลาดการเงินเริ่มคลี่คลายลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตลาดเงินตลาดทุนจะยังคงติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การดำเนินการตามแผน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่นายเฮนรี่ พอลสัน รมว.คลังสหรัฐฯ เคยกล่าวว่าจะปรึกษาหารือกับทำเนียบขาวหลังการเลือกตั้งว่าจะยังคงเป็นไปในทิศทางเดิมหรือจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญหรือไม่

ประการที่สองคือ แผนกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของทำเนียบขาวและสภาคองเกรสที่จะเป็นบทพิสูจน์ฝีมือชิ้นแรกของนายโอบามา ในการเข้ามามีส่วนตัดสินใจเยียวยาปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในรอบนี้ ซึ่งหากการดำเนินการทั้ง 2 ประเด็น สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ตลาดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการเงินและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ ก็คาดว่าเงินดอลลาร์ฯอาจจะยังคงได้รับแรงหนุนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ