พาณิชย์ทำใจเรื่องข้อตกลงอาเซียน ครม.ไม่กล้าเซ็นก่อนสภาเห็นชอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2008 18:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ก.พาณิชย์ กล่าวว่า หากสภาไม่สามารถให้ความเห็นชอบได้ทัน ตามมาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ที่กำหนดให้การทำข้อตกลงระหว่างประเทศใดๆ ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาก่อนนั้น ครม.สามารถพิจารณาให้ไทยลงนามก่อนได้แล้วจึงมาให้สภาเห็นชอบในภายหลังซึ่งการลงนามไม่ได้หมายความว่า ข้อตกลงนั้นๆ จะมีผลบังคับใช้ทันทีทุกประเทศที่ลงนามต้องดำเนินการภายใน เช่น ให้สภาพิจารณาเห็นชอบจากนั้นจึงให้สัตยาบัน ข้อตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ได้

"อยู่ที่ครม.จะกล้าตัดสินใจให้ไทยลงนามก่อนหรือไม่ แล้วจึงให้สภาเห็นชอบจากนั้นก็ค่อยให้สัตยาบัน ข้อตกลงจึงจะมีผลบังคับใช้ แต่ครม.อาจจะกลัวเหมือนกับกรณีของเขาพระวิหาร ที่ลงนามก่อนให้สภาเห็นชอบแล้วกลายเป็นเรื่องเป็นราวขณะนี้ อยากให้ครม.กล้าตัดสินใจและอย่าโยนไปให้สภาพิจารณาเพียงอย่างเดียว ถ้าโยนให้สภาทุกเรื่องคงพิจารณาไม่ทันแน่นอน" นายชนะ กล่าว

สำหรับข้อตกลงต่างๆ ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบจากสภา และจะลงนามในการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งนี้ 8 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงการค้าสินค้าฉบับใหม่ของอาเซียน, ความตกลงด้านการลงทุนแบบเต็มรูปแบบของอาเซียน, ข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนใน 3 สาขาวิชาชีพ (แพทย์ ทันตแพทย์ และบัญชี), ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีซึ่งไทยเพิ่งจะลงนามหลังจากที่อาเซียนอื่นๆ และเกาหลีลงนามไปแล้วเมื่อเดือนส.ค.49 และเดือนพ.ย.50, หนังสือแจ้งเข้าร่วมข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม และบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างไทย-อินโดนีเซียเรื่องน้ำตาลทราย

นายชนะ กล่าวต่อถึงเอฟทีเออาเซียน-อินเดีย หลังจากที่เจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้าแล้วเสร็จว่า คงจะลงนามไม่ทันในการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ เพราะอินเดียไม่ส่งบัญชีสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรปี 2550 ที่จะลดภาษีให้อาเซียนภายในกำหนดวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่ขอเลื่อนการส่งบัญชีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้ง แต่จะส่งบัญชีสินค้าตามพิกัดอัตราภาษีศุลกากรปี 2545 มาให้แทนซึ่งเป็นบัญชีที่ไม่ทันสมัย เพราะในเวทีการค้าโลกเลิกใช้พิกัดปี 2545 แล้ว ไทยจึงได้แจ้งให้สำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้รับทราบถึงความล่าช้าแล้ว

"ตามขั้นตอน ถ้าอินเดียส่งลิสต์มาให้ กระทรวงก็จะเอาเข้าครม.จากนั้นครม.ก็จะส่งเรื่องให้สภาเห็นชอบ แต่ถ้าครม.กล้าก็อาจมีมติให้ไทยลงนามก่อนให้สภาเห็นชอบก็จะทำให้ไทยลงนามได้ทันในการประชุมอาเซียนซัมมิทครั้งนี้ ไม่รู้ว่าเมื่อไรอินเดียจะส่งลิสต์มา อีกทั้งปีหน้า อินเดียจะเลือกตั้งใหม่เชื่อว่า กว่าจะลงนามก็คงอีกนาน ซึ่งเอฟทีเออาเซียน-อินเดียกว่าจะจบก็ใช้เวลาเจรจาถึง 6 ปี จึงไม่อยากให้เสียเวลาอีกแล้ว เพราะจะไม่มีใครได้ประโยชน์เลย" นายชนะ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ