พาณิชย์ คาดส่งออกชะลอตัวใน Q1-Q2/52 ก่อนลุ้นฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 25, 2008 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก คาดว่าการส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ในอัตรราที่ชะลอลงในช่วงไตรมาส 1/52 และ ไตรมาส 2/52 เพราะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวชัดเจนขึ้น แต่คาดว่าในครึ่งปีหลังจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง เนื่องจากทางกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาตรการส่งเสริมการส่งออกอย่างเร่งด่วน

"ตัวเลขทั้งปี 52 ยังบอกชัดเจนไม่ได้ ขอดูตังเลขในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ก่อน"นายราเชนทร์ กล่าวในการสัมมนา"กลยุทธ์ทางธุรกิจรับมือเศรษฐกิจโลกตกต่ำ"

ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์พยายามขยายการส่งออกในตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดหลักที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก อีกทั้งขยายตลาดสินค้าธุรกิจเกษตรและอาหาร เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศในด้านการส่งออก พร้อมสนับสนุนการทำรายได้จากด้านบริการให้เพิ่มสูงขึ้น และลดต้นทุนระบบการขนส่งสินค้า(โลจิสติกส์ )

ส่วนในปีนี้ นายราเชนทร์ ยังมั่นใจว่า สิ้นปี 51 ภาคการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 20% แม้จะมองว่าขณะนี้ภาคส่งออกในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์และชิ้นส่วนจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก แต่มองว่ายอดการส่งออกยังเป็นบวก โดยอุตสาหกรรมสิ่งทอยังขยายตัวได้ดี

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกของไทยยังขยายตัวได้ 21.7% คิดเป็นมูลค่า 1.51 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ในอีก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกได้มูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญ ทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวในอัตราที่ 20% ได้

นายราเชนทร์ กล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวถือเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยกระทรวงพาณิชย์จะเร่งวางมาตรการการเร่งพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกเป็นการเร่งด่วน 5 ด้าน เพื่อรองรับปัญหาดังกล่าว โดยเน้นส่งเสริมสินค้าเกษตรและอาหาร เนื่องจากมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 17% และสามารถรองรับการจ้างงานได้ถึง 50%, การขยายตลาดใหม่และรักษาตลาดหลัก, การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ, การลดต้นทุนทางโลจิสติกส์ลง และการส่งเสริมธุรกิจบริการ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ กล่าวว่า จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกยอมรับว่าทำให้การทำการค้าทำได้ลำบากมากขึ้น เพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจ การดำเนินธุรกิจต้องมีความระมัดระวัง เพราะลูกค้าอาจขาดสภาพคล่อง เกิดภาวะ Delay ของการจ่ายเงิน และอาจจะนำไปสู่ภาวะการเบี้ยวหนี้ได้ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องมีมาตรการในการช่วยดูแลผู้ประกอบการด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ