ธปท.เผยนักธุรกิจมองแนวโน้มศก.Q1/52 ชะลอตัวต่อเนื่องแต่มีสัญญาณดีขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 22, 2009 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ระบุว่า ผู้ประกอบการภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีความเห็นว่าแนวโน้มไตรมาส 1/52 ภาวะอุปสงค์ในประเทศยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 แต่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับคืนมาจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 52

ธปท.รวบรวมข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธรกิจ สถาบันและสมาคมธุรกิจในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ 137 ราย รวมถึงการตอบกลับแบบสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการและแบบสอบถามพิเศษจากผู้ประกอบการ 572 ราย ในระหว่างเดือน ต.ค.-ธ.ค.51

ผลสำรวจความเห็นพบว่า แนวโน้มไตรมาส 1/52 ด้านการบริโภคภาคเอกชนจะชะลอลงต่อเนื่องจากการอ่อนตัวของอุปสงค์และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการยังอยู่ในระดับต่ำเป็นสำคัญ แต่สถานการณ์การเมืองที่นิ่งขึ้นและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการให้สูงขึ้นและจะช่วยให้เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวในระยะต่อไป

ด้านการลงทุน คาดว่าภาคเอกชนยังชะลอการลงทุนต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการ 34% จะลดหรือชะลอการขยายกิจการในช่วงไตรมาส 1/52 จากปัญหาการถดถอยของเศรษฐกิจโลกและปัญหาทางการเมืองในประเทศเป็นสำคัญ

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าแผนการส่งเสริมการลงทุนในเชิงรุกของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติที่สนใจจะย้ายฐานการลงทุนจากไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและต้นทุนทางการเงินที่ลดลงน่าจะมีส่วนช่วยในการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะต่อไป

การส่งออกในช่วงไตรมาส 1/52 ยังคงลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4/51 แม้ว่าอุปสงค์จากประเทศเศรษฐกิจใหม่(Emerging markets)จะยังคงเพิ่มขึ้น

หากพิจารณาตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกมีความเสี่ยงสูงจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี เครื่องหนัง และรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากการชะลอตัวอย่างมากของอุปสงค์ในกลุ่มประเทศคู่ค้า ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอาหารแปรรูปเกษตร ยังมีคำสั่งซื้ออยู่จนถึงไตรมาส 1/52 เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพและราคาไม่สูงนัก

หากพิจารณาตามขนาดของธุรกิจ พบว่าผู้ส่งออกขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs)ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการส่งออกมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ เนื่องจากขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่าและฐานะทางการเงินที่มีความแข็งแกร่งน้อยกว่า โดยเฉพาะด้านสภาพคล่อง การปรับตัวจึงทำได้ยากกว่า

ขณะที่ตลาดแรงงานเริ่มมีสัญญาณการอ่อนตัว โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจปรับลดเวลาการทำงานและลดคนงานประเภท Sub-contractor แต่ยังไม่มีสัญญาณการเลิกจ้างแรงงานประจำที่ชัดเจนในไตรมาส 4/51 แต่แนวโน้ม ภาวะการจ้างงานในช่วงไตรมาส 1/52 อุปสงค์ของสินค้าในตลาดต่างประเทศที่หดตัวมากขึ้นจะส่งผลให้ระดับการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งผลสำรวจฯพบว่า 31% ของผู้ประกอบการคาดว่าจะปรับลดจำนวนแรงงานลง ขณะที่ 62% จะยังคงแรงงานไว้เท่าเดิม

แนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้านั้น การอ่อนตัวของอุปสงค์ทั้งจากในและต่างประเทศจะทำให้แรงกดดันด้านราคาสินค้าและบริการทั่วไปมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน เป็นผลสำคัญจากความต้องการของตลาดโลกที่ลดลง และราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้ความต้องการพืชเพื่อใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนลดลงตามไปด้วย

อุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวลงและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดต่ำลง แต่มาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์ แนวโน้มการปรับลดราคาของผู้ประกอบการเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท และอัตราดอกเบี้ยขาลงเป็นปัจจัยบวกต่ออุปสงค์ ส่วนอุปทานมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย เป็นผลมาจากปี 51 ที่มีการเปิดตัวที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ซึ่งจะเปิดขายในต้นปี 52

นอกจากนี้ ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยตามปัจจัยเสี่ยง(Risk perception)จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของอุปทานในระยะต่อไป

ด้านความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับความเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวของ เศรษฐกิจโดยการชะลอการลงทุนในระยะนี้ออกไปก่อน รวมถึงการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิต การแสวงหาตลาดใหม่เพื่อชดเชยการลดลงของการส่งออกไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา การกระจายการส่งออกไม่ให้เกิดการกระจุกตัว และการเพิ่มสัดส่วนของตลาดในประเทศ

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐาน ทางการเงินค่อนข้างแข็งแกร่ง เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปรับตัวมากกว่า โดยเฉพาะความสามารถในการจัดการสินค้าคงคลังในภาวะที่อุปสงค์อ่อนตัวลง ความสามารถในการพัฒนาการผลิตเพื่อการแข่งขันหรือรองรับ ความต้องการในอนาคต และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในภาวะที่สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดใน การให้สินเชื่อแก่ธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ