
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 68 ลงมาเหลือเติบโต 2% แบบมี Downside ที่จะเติบโตได้ต่ำกว่านั้น โดยหากเกิดกรณี worst case อาจจะเติบโตต่ำเหลือแค่ 1.5% ซึ่งจะต้องรอดติดตามว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะคลี่คลายอย่างไร โดยเฉพาะการเจรจาการค้าของสหรัฐที่สร้างความผันผวนตั้งแต่ต้นปี
เดิมเมื่อปลายปี 67 BBL เคยคาดการณ์ว่า GDP มีโอกาสเติบโตได้ถึง 3% บวก/ลบ จากหลากหลายปัจจัยทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมถึงการลงทุนโดยตรง และการกระตุ้นจากภาครัฐ แต่เมื่อผ่านไปสัก 2-3 เดือนแรกของปีนี้ เราจึงทำในสิ่งที่ไม่ค่อยได้ทำก็คือการปรับประมาณการลง เนื่องจากเห็นแนวโน้มการส่งออก นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ การชะลอตัวของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจากกรณีการลักพาตัว" ซิงซิง" รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทำให้เห็นว่าปีนี้แรงต้านเศรษฐกิจมีค่อนข้างมาก
การส่งออกที่เคยคิดว่าจะดี เศรษฐกิจโลกที่คิดว่าจะฟื้น คงไม่ได้เป็นไปตามที่เราคิดไว้ โดยภาคส่งออกช่วงต้นปีอาจจะยังดีอยู่แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่แน่นอนว่าจะยังดีอยู่หรือไม่ เพราะมีการเร่งสั่งซื้อก่อนที่มาตรการภาษีของประธาธิบดีทรัมป์จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ปริมาณสต็อกสินค้าพุ่งสูงขึ้นไปมาก โดยเฉพาะในสหรัฐ บางรายอาจจะสต็อกยาวไปถึงช่วงคริสต์มาสปลายปีแล้ว จากปกติที่เคยสต็อกไว้เพียง 3 เดือน เพราะฉะนั้นครึ่งหลังของปีนี้เขาก็อาจจะไม่ซื้อเหมือนเดิม นั่นก็หมายความว่าครึ่งปีหลังแรงส่งเศรษฐกิจจากส่งออกอาจจะหายไป
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันท่องเที่ยวก็เกินกว่าคาด ตอนปลายปีที่แล้วยังมองว่าปีนี้การท่องเที่ยวไทยจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่น แต่ปรากฏว่าพอเข้าถึงเดือน ก.พ.68 เกิดเหตุการณ์ลักพาตัว "ซิงซิง" ทำให้นักท่องเที่ยวจีนพลิกจากที่เคยบวกไป 20% มาติดลบ 2-3% การจะกลับไปเติบโตได้คงไม่ง่าย และยังมีประเด็นความขัดแย้งในประเทศด่วย ดังนั้นปีนี้หากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใกล้เคียงปีก่อนที่ 35.5 ล้านคนได้ก็ถือว่าดีมาก ๆ แล้ว
"ตอนนี้นักท่องเที่ยวที่ไม่มาคือทัวร์กรุ๊ปของจีน โดยเฉพาะจากเมืองเล็กก็ไม่มาเลย นักท่องเที่ยวที่เป็นครอบครัวยังมาอยู่บ้าง แล้วก็นักท่องเที่ยวยุโรปยังบวก 18% แต่โดยรวมผมคิดว่าจำนวนมันไม่ได้ ก็ทำให้เราหนักใจ คิดว่าท่องเที่ยวทรงออกมาก็ไม่ค่อยดีอย่างที่คิดไว้ มีความเสี่ยง ขณะเดียวกันท่องเที่ยวก็มีแรงต้านเยอะ"นายกอบศักดิ์ กล่าว
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของปัญหาการเมืองที่ทำให้ความกระฉับกระเฉงในการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลลดลงไป จากแต่ก่อนวันที่การเมืองนิ่งรัฐบาลจะคิดนโยบายอะไรก็ได้ แต่พอการเมืองไม่นิ่ง ทุกคนก็มองซ้ายมองขวา ข้าราชการเองก็รับลูกน้อยลง ทำให้การขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ง่ายอย่างที่เคยเป็น
"ผมคิดว่าอันนี้ก็จะทำให้แรงส่งด้านการเมืองจากนโยบายภาครัฐเนี่ย เอ่อ มีบ้าง แต่ว่ามันอาจจะไม่ Effective อย่างที่เราคิดว่า พอบวก ๆ กัน ก็ทำให้เราตัดสินใจว่าเราปรับประมาณการลงมาประมาณ 2% แล้วก็บวก Downside สำหรับปีนี้ ซึ่งตอนนี้เขาก็ปรับขึ้นปรับลงใช่มั้ย เอ่อ บางคนก็ต่ำกว่า 1% ตอนนี้แบงก์ชาติก็ 2.3% เป็นต้น แต่ว่าสำหรับเรานะครับผมคิดว่ามันเร็วเกินไป เพราะขณะนี้ไม่มีใครรู้ว่าคุณทรัมป์จะทำอะไรเพิ่ม แล้วก็คุณทรัมป์จะให้ภาษีเราเท่าไหร่ก็ไม่มีใครรู้"
สำหรับธนาคารกรงเทพนั้น ปีนี้จุดสำคัญคือว่าเราจะดูแลให้ลูกค้าเราผ่านไปให้ได้ เพราะโดยส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจไทยน่ากังวลใจ เพราะที่ได้ยินตัวเลขมายอดขายของกลุ่มธุรกิจสะดวกซื้อเดือน เม.ย.-พ.ค.ไม่ดี และห้างขนาดใหญ่ยอดรูดบัตรเครดิตก็ไม่ดีถึงขั้นติดลบ ยอดขายบางห้างก็ไม่ดี เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอใช้จ่ายอย่างชัดเจน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารก็ยอดขายลดลง และโรงงานบางแห่งต้องปิดกิจการไป โดยเฉพาะ Sector ที่กำลังเป็น Sunset
"เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าประคับประคองตนเอง แล้วก็ขณะเดียวกันก็ปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ แล้วก็ใช้เวลานี้ในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ผมว่าปีนี้ยาก คิดว่ามันไม่ง่าย"
ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศ ประธานาธิบดีทรัมป์พร้อมจะทำนโยบายหลายเรื่องที่คาดเดาไม่ได รวมทั้งมีสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกลางที่เหนือกว่าความคาดหมาย ไม่มีใครคาดเดาว่าอิสราเอลกับอิหร่านจะเปิดปฏิบัติการโจมตีกันอย่างหนักขนาดนี้ และยังไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แล้วจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในจุดใดอีก กลายเป็นความไม่แน่นอนค่อนข้างมาก
นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องท่องเที่ยวยังน่ากังวลใจ เพราะขณะนี้นักท่องเที่ยวเมืองไทยไม่ใช่เบอร์ 1 อีกต่อไป คือญี่ปุ่นแซงเราไปแล้ว และมาเลเซียก็ตีตื้นมามาก รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักธุรกิจลังเลใจ แล้วก็บวกกับปัญหานอกประเทศด้วย ทำให้ชะลอการตัดสินใจลงทุน แต่จากประสบการณ์ในอดีตปัญหาการเมืองออกได้หลายทาง ตอนนี้ยังเร็วไปที่จะบอกได้ว่าจะเป็นอย่างไร
แม้กระทั่งส่งออกก็ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร แต่หากไทยเจรจาลดอัตราภาษีกับสหรัฐลงมาได้ระดับ 15-20% ถือว่าดี ก็น่าจะยังพอไปได้ ไม่ต้องหวังว่าจะได้ 0% ไม่เป็นไปไม่ได้ในรอบนี้ ถ้าได้ 10% ก็ถือว่าดีที่สุด แต่ระดับที่ต่ำกว่าภาษีที่สหรัฐเก็บจากจีนก็จะทำให้ได้ได้เปรียบ ดังนั้นการส่งออกในช่วงปลายปีก็อาจจะดีกว่าที่คาดไว้ก็ได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจะต้องรับมือกับสินค้าจีนที่จะหลั่งไหลเข้ามา เพราะหากจีนส่งสินค้าไปสหรัฐไม่ได้ก็ต้องหาทางออกไปที่อื่น ก็ต้องรอติดตามภายใน 1 เดือนนี้เชื่อว่าทางฝั่งสหรัฐจะชัดเจนขึ้น
"เขาจะเฉลยว่าเขาจะให้ใครเท่าไหร่ แล้วพอหลังจาก 90 วันพอเขารู้แล้วว่าเจรจาไม่ทันก็จะแจกตัวเลขแล้ว แล้วพอเขาแจกตัวเลขเราก็จะรู้ว่าเราอยู่ระดับไหนแล้วหลังจากนั้นเราก็จะประมาณการที่ถูกว่าปลายปีส่งออกจะดีหรือไม่ดี ถ้าเราได้ต่ำกว่าเพื่อนคู่แข่ง เราก็จะไปได้ ก็หวังว่าคู่แข่งอย่างเวียดนามจะเจรจาไม่สำเร็จ"
นายกอบศักดิ์ แนะนำว่ารัฐบาลควรจะจัดงบประมาณสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวให้ตรงจุด ท่ามกลางข้อจำกัดของเม็ดเงินที่มี โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เน้นทำโปรโมชันให้ดีขึ้น เพราะมองว่าด้านการท่องเที่ยวยังมี Upside ค่อนข้างมาก ส่วนด้านส่งออกคิดว่าควรร่วมมือกับภาคเอกชนไปเร่งแสวงหาตลาดอื่นๆ ที่เป็น Alternative ในช่วงที่นโยบายของสหรัฐยังมีความไม่แน่นอนและอีกด้านหนึ่งคือการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะมีคนอยากมาลงทุนเมืองไทยพอสมควร อาจจะต้องเพิ่มแรงจูงใจให้ต่างชาติ เพราะยิ่งทุกคนทะเลาะกัน อาเซียนก็จะดูดีขึ้น
"ถ้าบ้านเขาถล่มอย่างนี้ทุกวันนี้ เขาก็อยากที่จะหาบ้านใหม่ ต้องการพื้นที่อัพเกรดใหม่ เราเป็นเป้าหมาย ในตะวันออกกลางไม่สงบ ในยุโรปก็ไม่สงบและมีปัญหา เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า ในอนาคตเราอาจจะทำเรื่องนี้ได้ดี เอาคนมาลงทุนเมืองไทยให้มากขึ้น เปิดให้มากขึ้นในช่วงนี้เป็นอีกเรื่องที่ดีที่น่าจะทำได้"นายกอบศักดิ์ กล่าว