รมว.คลัง ระบุแนวทางพัฒนาตลาดทุนไทยต้องเน้นการขยายขนาดขจัดข้อจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 27, 2009 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"มาตรการทางเศรษฐกิจของรัฐบาล"ในงานสัมมนา"มาตรการที่รัฐจะส่งเสริมให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ"ว่า การพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นเรื่องยาก เนื่องจากมีข้อจำกัดที่ตลาดทุนไทยมีขนาดเล็ก

ดังนั้น อาจจะต้องมีความร่วมมือกับตลาดทุนประเทศอื่นที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน และวางแนวทางพัฒนาในรูปแบบของการควบรวมกิจการ หรือ รวมตลาดที่เกี่ยวข้องกันเข้ามาไว้ด้วยกัน เช่น TFEX-AFEX ซึ่งได้หารือกับ รมว.พาณิชย์ ที่จะมีการเดินหน้าเพิ่มสินค้าเกษตรล่วงหน้าให้มีการซื้อขายในตลาดมากขึ้น

สำหรับโครงสร้างของการพัฒนาตลาดทุนจะอยู่ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาตลาดทุนที่เหมาะสม รวมถึงกำจัดปัญหาอุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาตลาดทุน เพื่อให้ตลาดทุนไทยเป็นแหล่งระดมทุนของผู้ประกอบการ

นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยการจัดทำงบกลางปี 1 แสนล้านบาท และมาตรการภาษีเป็นมาตรการสมทบ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มอีก 1% โดยยอมรับว่าบางมาตรการอาจถูกวิพากวิจารณ์ เช่น มาตรการจ่ายเงิน 2,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท/เดือน แต่โดยหลักเหตุและผลแล้วรัฐบาลมีเป้าหมายให้เงินถึงมือประชาชนที่พร้อมมากที่สุด เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากที่สุด

ขณะเดียวกัน ยอมรับว่าภาครัฐมีข้อจำกัดของการใช้งบประมาณที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอ ซึ่งในปีงบประมาณ 52 รัฐบาลมีการขาดดุลงบประมาณกว่า 350,000 ล้านบาท เกือบเต็มเพดานที่กำหนด ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มเป็น 41-42%ของจีดีพี แต่ยังมีช่องทางให้รัฐบาลกู้เงินได้อีก ซึ่งเป็นโอกาสให้มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องได้อีก 2 ปี เพื่อผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เห็นว่าภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลมีข้อจำกัดและตลาดทุนถือมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นแหล่งระดมทุนอีกทางเลือกของผู้ประกอบการ เพื่อที่จะเป็นคู่แข่งการระดมเงินทุนนอกเหนือจากการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ที่ยังกำหนดส่วนต่างดอกเบี้ย(สเปรด)สูง ซึ่งตนเองไม่ได้มีแนวคิดแทรกแซงการทำงานของธนาคารพาณิชย์ แต่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ถือเป็นหน้าที่ ซึ่งมีผลต่อประชาชนและผู้ประกอบการ

"ความตังใจของรัฐบาลคือการเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าช่วง 1-2 ไตรมาส และจะมีการผลักดันมาตรการระยะกลางและระยะยาวต่อไป แต่เห็นว่าภาครัฐไม่ใช่กลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่มีหน้าที่หล่อเลี้ยง ไม่ให้เครื่องยนต์ดับ แต่เศรษฐกิจจะโตไม่ได้ หากไม่มีภาคเอกชน ให้ความร่วมมือ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ