ที่ประชุมเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum หรือ WEF) ที่ปิดฉากลงเมื่อวานนี้ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์นั้น ได้มีการเรียกร้องให้ประเทศต่างๆร่วมมือกันแก้วิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลก แต่นักธุรกิจที่เข้าร่วมการประชุมต่างเห็นเช่นเดียวกันว่า การที่ประเทศต่างๆไม่สามารถร่วมมือกันได้อย่างแท้จริงนั้นเป็นเพราะแต่ละประเทศยังคงยึดติดอยู่กับค่านิยมการกีดกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศตนเอง
ดันแคน ไนเดอรอเรอร์ ซีอีโอของ NYSE Euronest กล่าวว่า ความพยายามของภาคอุตสาหกรรมการเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจการซื้อขายความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ Credit-Default Swaps หรือ CDS หยุดชะงัก เนื่องจากการแข่งขันกันในแต่ละภูมิภาค โดยกลไกที่ทางลอนดอน เคลียริ่ง เฮาส์ ได้จัดทำขึ้นมานั้นต้องเผชิญกับแรงต้านจากธนาคารและสถาบันการเงินในภูมิภาคยุโรป ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่เราทำให้กับสถาบันการเงินอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่ได้รับการยอมรับเพียงเพราะว่ากลไกดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตยุโรป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไร้สาระ เราควรจะคิดหาวิธีแก้ปัญหามากกว่าที่จะเล่นเกมการเมืองกัน
ทางด้านนายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนางแองเจลา เมอร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีก็ชี้แนะว่า ประเทศต่างๆควรจะร่วมมือกันในด้านนโยบายเศรษฐกิจทั่วไปและมาตรฐานในการกำกับดูแล ส่วนผู้นำหลายประเทศซึ่งรวมถึงนางคริสติน ลาการด์ รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส ก็กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการจัดทำข้อเสนอขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมกลุ่มประเทศ G20 ในเดือนเม.ย.ที่กรุงลอนดอน
บลูมเบิร์กรายงานว่า นายกฯเยอรมนีกล่าวว่า อุตสาหกรรมการเงินต้องการกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและระเบียบสำหรับเศรษฐกิจโลก เพื่อที่จะนำไปสู่การจัดตั้งสภาเศรษฐกิจของสหประชาชาติ และเรียกร้องให้มีการยุติลัทธิการกีดกันทางการค้า และจะติดตามกับการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐ
ทางด้านนายกฯอังกฤษเตือนถึงปัญหาที่ยิ่งใหญ่กว่าลัทธิการกีดกันทางการค้า คือ การคุกคามของการกีดกันทางการเงิน โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เพื่อสร้างความพอใจให้กับรัฐบาลในแง่ของการให้ความช่วยเหลือแบบฉุกเฉิน สถาบันการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า กระแสเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่จะชะลอตัวลงเหลือ 1.65 แสนล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากระดับ 2 ปีที่แล้วที่ 9.29 แสนล้านดอลลาร์