รมว.พลังงาน เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ขยายเวลาใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เพื่อลดภาระให้กับประชาชน หลังสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น
"หากปล่อยให้ประชาชนต้องรับภาระทั้งราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและการปรับขึ้นภาษี(สรรพสามิต)จะหนักเกินไป" นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าว
ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติให้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ ราว 3.6 พันล้านบาท จ่ายชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้กับประชาชน หลังสิ้นสุดโครงการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน เมื่อวันที่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากต้องกลับไปจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามเดิมตั้งแต่ 2-5 บาท/ลิตร และช่วงแรก กบง.ได้มีมติให้เรียกเก็บภาษีสรรสามิตน้ำมัน 1.55 บาท/ลิตร หลังจากนั้นยจะทยอยปรับเพิ่มไปเรื่อยๆ จนเต็มเพดานที่กำหนดไว้
รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะปรับแผนใหม่โดยให้มีการทยอยปรับขึ้นราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศขึ้นครั้งละไม่ถึง 1 บาท จนกว่าจะเต็มเพดานภาษีสรรพสามิต ซึ่งต้องขยายระยะเวลาจากเดิมที่กำหนดไว้ภายใน 2 เดือนออกไปอีก
สำหรับปริมาณการใช้น้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลง แต่ไม่ทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมของพลังงานทดแทนลดลง โดยในส่วนของแก๊สโซฮอล์ยังมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเดือนละ 7-8 ล้านลิตร เป็น 11-12 ล้านลิตร ส่วนดีเซลบี 5 ที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซล มียอดการใช้สูงขึ้นจากเฉลี่ย 11-12 ล้านลิตร เป็น 17-18 ล้านลิตร
ด้านนายปรัชญา ภิญญาวัธน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกขณะนี้ยังทรงตัวที่ระดับประมาณ 40 ดอลลาร์/บาร์เรล เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐยังไม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่กลุ่มโอเปคก็มีท่าทีจะปรับลดกำลังการผลิตลงอีก
โดยราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันทุกประเภทเพิ่มขึ้น สำหรับ ปตท.ในเดือน ม.ค.52 พบว่า ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 31% น้ำมันดีเซลสูงขึ้น 35% ส่งผลให้ขณะนี้บริษัทผู้ค้าน้ำมันในประเทศจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ในส่วนของน้ำมันเบนซินนำเข้าอีก 20-25 ล้านลิตร/เดือน และดีเซลนำเข้าอีก 30-50 ล้านลิตร/เดือน เพราะนอกจากปริมาณการใช้ในประเทศจะสูงขึ้นแล้วยังเป็นช่วงที่โรงกลั่นปิดปรับปรุงเพื่อซ่อมประจำปี