ตามรายงาน ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อ ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยหลายประเทศเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีโอกาสสูงที่การฟื้นตัวจะล่าช้าออกไปนั้น ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวในเกือบทุกประเทศทั่วโลก และเกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด (Deflation)ได้
สำหรับประเทศไทย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ตั้งแต่เดือนกันยายน 2551 จะชะลอลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน และเมื่อพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันและอยู่นอกเหนือมาตรการของภาครัฐ พบว่าราคาส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับลดลง จึงยังไม่มีสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ดังนั้น แม้ในระยะสั้นจะมีโอกาสที่เงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบ แต่ก็เป็นผลจากการปรับลดลงอย่างมากของราคาเฉพาะกลุ่ม คือ ราคาน้ำมัน ที่ในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีที่แล้ว อยู่ในระดับสูงกว่าปัจจุบันมาก นอกจากนี้ เมื่อประเมินถึงโอกาสที่จะเกิดเงินฝืดในระยะต่อไป
คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่ายังมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากการเร่งใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจจะช่วยให้อุปสงค์ไม่ทรุดตัวลงมากจนทำให้เกิดภาวะเงินฝืดในระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2552 จะติดลบร้อยละ 1.5 ขยายตัวร้อยละ 0.5 และเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 0.5-1.5