"กรณ์"เผยกองทุนCIMไม่ถูกกระทบ แม้สิงคโปร์ถอนตัว เหตุขึ้นกับความพร้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday February 21, 2009 17:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า การประชุม รมว.คลังอาเซียน +3วาระพิเศษ จะมีวาระการหารือเรื่องการจัดตั้งกองทุนตามมาตรการริเริ่มที่เชียงใหม่ (CIM) โดยไทยจะใช้โอกาสหารือกับ รมว.คลัง ของประเทศใหญ่ 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เกี่ยวกับข้อตกลงเดิมในเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ ทางประเทศ สิงคโปร์ จะขอถอนตัวที่จะไม่นำเงินสำรองระหว่างประเทศ เข้าสมทบจัดตั้งกองทุนแล้วก็ตาม แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อการจัดตั้งกองทุนเพราะขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละประเทศ และต้องเคารพต้องความคิดเห็นของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ จะยังไม่มีวาระการตัดสินใจ หรือนำไปสู่การลงนามสัญญาข้อตกลงใด ๆ แต่ประเด็นหลักของการหารือจะเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในเอเซีย และอาจมีหลายประเด็นทางเศรษฐกิจ ที่จะเสนอให้ประเทศขนาดใหญ่ นำไปหารือ เป็นข้อเสนอแนะ และนำความต้องการของกลุ่มอาเอเซียน เสนอต่อการประชุมของประเทศ กลุ่ม G 20

"การที่สิงคโปร์จะถอนเงินจาก CIMB ไม่มีผลต่อการจัดตั้งกองทุนอยู่แล้ว เพราะบทบาทแต่ละประเทศก็ต้องรับฟัง ว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อกองทุนของภูมิภาคนี้อย่างไร แต่เราเคารพความคิดเห็นทุกฝ่าย...หลักการของกองทุนคือความพร้อมของเม็ดเงิน ต้องดูความเหมาะสมว่าแต่ละประเทศพร้อมแค่ไหน" นายกรณ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม รมว.คลังของไทย กล่าวยืนยันว่า ไทยมีความพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมจัดตั้งกองทุน CIMB เนื่องจากขณะนี้ ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งเอื้ออำนวยให้ไทยอยู่ในสถานะที่จะมีส่วนรวมได้

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า แม้ขณะนี้ ความพร้อมของประเทศสมาชิก 13 ประเทศเกี่ยวกับการจัดตั้ง กองทุน CIMB อาจจะมีปัญหา แต่เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อหลักการ เนื่องจาก เรื่องดังกล่าวมีการทำข้อตกลงกันในระดับทวิภาคีมาแล้ว เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ตามมาตรการิเริ่มที่เชียงใหม่ (CIM) แต่ขณะนั้นประเทศต่างๆ ยังมีความท้าทายเกี่ยวกับเงินสำรองระหว่างประเทศ ทำให้การเข้าถึงข้อตกลงดังกล่าวยังมีไม่มากนัก แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ที่ขณะนี้ ประเทศในภูมิภาค มีเงินสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากขึ้นแล้ว เชื่อว่า จะทำให้หลายประเทศมีการทบทวนแนวคิดนี้ และนำไปสู่ความร่วมมือกันมากขึ้น

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ตามข้อตกลง CIMB เสนอให้มีการนำเงินสำรองระหว่างประเทศ ร่วมจัดตั้งกองทุน ในวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์ และ มีการเสนอให้มีการขยายวงเงินเป็น 120,000 ล้านดอลลาร์ และขยายข้อตกลงไปสู่ระดับพหุภาคี โดยที่ฝ่ายไทย พร้อมนำเงินสำรองระหว่างประเทศร่วมจัดตั้งกองทุน วงเงิน 4,000 ล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ