(เพิ่มเติม) รมว.พาณิชย์ยอมรับแนวโน้มส่งออกปีนี้ติดลบ แต่ยังพยายามทำตามเป้าโต 0-3%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 25, 2009 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ยอมรับว่า มีแนวโน้มที่การส่งออกของไทยในปี 52 จะมีโอกาสติดลบ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลก ตลอดจนเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญหดตัวลงอย่างมาก แต่ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะพยายามรักษาระดับการส่งออกให้เติบโตตามเป้าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 0-3% รวมทั้งจะประเมินสถานการณ์การส่งออกและทบทวนเป้าหมายเป็นรายไตรมาส

"ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่า เพื่อให้การส่งออกของไทยขยายตัวเป็นบวก แต่ต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลงมาก โอกาสที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในปีนี้จะติดลบเป็นไปได้สูง แต่กระทรวงพาณิชย์จะประคับประคองให้ดีที่สุด เพื่อให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 0-3%

ส่วนจะได้จริงหรือไม่นั้นคงต้องดูตัวเลขเป็นรายไตรมาส แต่ส่วนตัวเห็นว่า การตั้งเป้าหมายให้สูงไว้เป็นการดี เพราะทำให้คนทำงานมีความพยายามในการทำงานมากขึ้น ส่วนที่มูดี้ส์บอกว่าเราจะหนักสุดในเอเชีย คงพูดเกินจริง เพราะหลายประเทศส่งออกติดลบหนักกว่าเรา" นางพรทิวา กล่าว

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์รักษาตลาดส่งออกเดิมของไทยไว้ให้ได้ โดยให้ดูว่าลูกค้าที่ซื้อสินค้าไทยเป็นประจำในแต่ละประเทศยังเข้มแข็งอยู่หรือไม่ มีคู่แข่งสินค้าไทยเริ่มเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดหรือไม่ คู่แข่งเหล่านั้นมีกลยุทธ์ใดที่ใช้แข่งขันกับไทย และสินค้าคู่แข่งมีจุดแข็งที่ใด รวมถึงให้ดูว่าแต่ละประเทศมีกฎระเบียบทางการค้า หรือมีข้อกีดกันทางการค้าใหม่ที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออกสินค้าไทยหรือไม่

นอกจากนี้ ยังให้เพิ่มสัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่ โดยให้ดูว่าสินค้าและบริการของไทยที่ส่งออกไปแต่ละประเทศในตลาดใหม่สามารถครอบคลุมได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศหรือยัง และมีโอกาสที่จะขยายตลาดเพิ่มได้อีกหรือไม่ หากในตลาดใหม่ยังไม่มีสินค้าไทย มีโอกาสที่สินค้าและบริการไทยจะเข้าไปทำตลาดได้หรือไม่ รวมถึงให้ศึกษาสัดส่วนตลาดของคู่แข่งด้วย

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทูตพาณิชย์ต้องดูแลสินค้าที่มีปัญหาเป็นการเร่งด่วน โดยหากพบว่า สินค้าใดของไทยเกิดปัญหาขึ้นในแต่ละประเทศ ขอให้ทูตพาณิชย์ประสานงานร่วมกับภาคเอกชนของไทยและภาครัฐในแต่ละประเทศ เพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังต้องตั้งเป้าหมายการส่งออกเป็นรายสินค้า และสร้างกลไกล และเครื่องมือเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย รวมถึงให้ทูตพาณิชย์เป็นกระบอกเสียงให้กับประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าในแต่ละประเทศ โดยกำหนดให้ทูตพาณิชย์รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวเข้ามายังตนทุกๆ 2 สัปดาห์

ที่ผ่านมา ตนเองได้หารือกับนายกรัฐมนตรีอย่างไม่ทางการให้รัฐบาลช่วยเหลือภาคส่งออกด้วย และได้จัดทำข้อมูลสถานการณ์ส่งออกไปให้แล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับปากจะให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะการมาตรการด้านภาษี ซึ่งอาจจะมีการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบ หรือลดการเก็บภาษีซ้ำซ้อน รวมถึงการเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ส่วนการของบประมาณเพื่อสนับสนุนการส่งออกเป็นการเฉพาะคงไม่ขอแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีเงินเจียดมาให้

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้ให้นโยบายทูตพาณิชย์รุกอาเซียนเป็นพิเศษ เพราะสินค้าไทยมีศักยภาพการแข่งขันมากในอาเซียนเพราะมีต้นทุนการขนส่งต่ำ รวมถึงให้รุกการค้าชายแดนให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนเพียง 700,000 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย จึงยังเพิ่มมูลค่าได้อีกมาก

"กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงทูตพาณิชย์ ต้องทำงานหนักขึ้น เร็วขึ้น มีกลยุทธ์ใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงหาโอกาสส่งออกสินค้าไทยใหม่ๆ ทั้งในตลาดเก่า และตลาดใหม่ให้มากขึ้น จึงจะทำให้เป้าหมายการส่งออกเป็นไปได้ตามเป้าหมายที่ 0-3%" นายอลงกรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังให้นโยบายอาร์มาเกดอน หรือหน่วยเจาะเกราะ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกเจาะตลาดใหม่ๆ และตลาดเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยได้วาง 4 กลยุทธ์ 4 ขั้นคือ การเจาะเกราะคือ เร่งเจาะตลาดใหม่ที่มีศักยภาพสูง มีข้อมูลการค้าเชิงลึก เพื่อเพิ่มโอกาสให้สินค้าไทย การแตกหน่อ เป็นการทำจับคู่ทางธุรกิจ การส่งเสริมตลาดเชิงรุก ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น และการทำแบรนด์ประเทศไทย เพื่อย้ำให้ตลาดจดจำตราสินค้าไทย และติดใจคำว่า "เมดอินไทยแลนด์"

สำหรับเป้าหมายการส่งออกในปี 52 ที่ขยายตัว 0-3% นั้น เมื่อแยกเป็นรายตลาดขยายตัวดังนี้ สหรัฐฯ ลบ 2% ถึงลบ 5%, สหภาพยุโรป ลบ 5% ถึงลบ 2%, ญี่ปุ่น ลบ 3% ถึง 0%, เกาหลีใต้และไต้หวัน ลบ 5% ถึง 3% เท่ากัน ส่วนตลาดที่ยังขยายตัวได้ ได้แก่ แคนาดา ขยายตัว 0-5% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 5-8% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 5-10% แอฟริกา ขยายตัว 5-8% จีน ขยายตัว 0-7% ออสเตรเลีย เพิ่มขึ้น 5% เอเชียใต้ ขยายตัว 5-10% อาเซียน (5ประเทศ) ขยายตัว 0% และอินโดจีน ขยายตัว 10%

ขณะที่การส่งออกของไทยในปี 51 ขยายตัว 15.6% คิดเป็นมูลค่า 177,841 ล้านดอลลาร์ แต่ยอดการส่งออกรายเดือนมีอัตราการขยายตัวติดลบต่อเนื่องแล้ว 3 เดือน ตั้งแต่เดือน พ.ย.51 ที่ลดลง 18.6% เดือน ธ.ค.51 ลดลง 14.5% และเดือน ม.ค.52 ลดลง 26.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ