อินโดนีเซียเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะเลวร้ายถึงขั้นติดลบ หลังจากที่มูลค่าการส่งออกในเดือนม.ค.ดิ่งลง 17.7%
ฮาร์ตาดี เอ ซาร์โวโน รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่า มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียจะปรับตัวลดลง 4.6% ในปีนี้ ขณะที่ผอ.จาก Econit Advisory Group คาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกในปีนี้จะติดลบ 5% ส่วนสำนักงานวางแผนการพัฒนาแห่งชาติคาดว่า มูลค่าการส่งออกจะลดลง 6%
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่นับรวมน้ำมันของอินโดนีเซียในปีนี้มีแนวโน้มร่วงลง 20% หรือ 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 1.08 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551
ขณะเดียวกันประธานสมาคมนายจ้างอินโดนีเซียกล่าวว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 240,000 ตำแหน่งในเดือนนี้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้บั่นทอนอำนาจการจับจ่ายซื้อสินค้าของผู้บริโภคและได้ฉุดรั้งอุปสงค์ในตลาดให้ลดลง
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จากระดับ 8.25% มาอยู่ที่ 7.75% ในการประชุมเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.พ.เคลื่อนไหวในระดับสูงที่ 8.6%
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางคาดว่า อัตราเงินฟ้อในปีนี้จะลดลงสู่ระดับ 5-7% และการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทรุดตัวลงแตะ 4% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4.5% ส่วนประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุดโยโน่ยังมีมุมมองในแง่บวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเชื่อมั่นว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 73.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม