นายแบงก์หนุนรัฐกู้เงินเพิ่มกระตุ้นศก.เตือนคำนึงถึงความสามารถชำระหนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 24, 2009 15:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกรุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)เปิดเผยว่า ขณะนี้แนวโน้มลูกค้าของธนาคารเริ่มมีสัญญาณการชำระหนี้ล่าช้าเพิ่มขึ้น เป็นผลจากผลกระทบภาวะเศรษฐกิจทรุดตัว ซึ่งอาจจะทำให้ยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เพิ่มสูงขึ้นได้ แต่ธนาคารยังคงเป้าหมายที่จะควบคุมยอด NPL ไม่ให้เกิน 4% ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจุบัน NPL อยู่ที่ 3% กว่า

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยปี 52 ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าจะหดตัว 1-3% ซึ่งสอดคล้องกับการที่ รมว.คลัง มองไว้ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องออกนโยบายหลายด้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งแนวทางการกู้เงินต่างประเทศ หรือการเตรียมขยายเพดานการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ให้กระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคแรงงาน

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่รัฐบาลมีแผนการใช้เงินจำนวนมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่รายได้ของรัฐบาลอาจจัดเก็บไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งมีผลทำให้รัฐต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย

"การที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซง ประคองเศรษฐกิจให้กับผู้เดือดร้อน เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การทำแผนการใช้เงินมาก ขณะที่รายได้ไม่ได้ตามเป้าต้องทำอย่างรอบคอบ...ตอนนี้หลายประเทศประสบปัญหาเหมือนกัน ดังนั้นการใช้มาตรการการคลังมาดูแลเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องผิดหลักการ ดูจากสหรัฐที่ทำมากกว่าเรา เช่น นำเงินมาซื้อพันธบัตร"นายประสาร กล่าว

นายประสาร กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)วันที่ 8 เม.ย.นี้ ตลาดคาดการณ์ว่า กนง.อาจจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%

ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การที่รัฐบาลมีแผนการกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อมาดูแลเศรษฐกิจถือเป็นความจำเป็น เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างมาก หากรัฐบาลไม่มีนโยบายใด ๆ เศรษฐกิจอาจไม่ขยายตัวเลย ส่วนรัฐบาลจะกู้เงินในประเทศหรือต่างประเทศมาใช้จ่ายขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

ส่วนแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.นั้น เชื่อว่าจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนที่ปรับลดลงมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดต้นทุนการกู้เงินภาครัฐที่มีการกู้เงินเพิ่มจะทำได้ง่ายขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ