นักวิเคราะห์ชี้คณะทำงาน"โอบามา"บีบซีอีโอ GM พ้นเก้าอี้ส่งสัญญาณด้านลบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์

ข่าวต่างประเทศ Monday March 30, 2009 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ของเอพีมองว่า การที่ทำเนียบขาวบีบให้นายริค วาโกเกอร์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ลาออกจากตำแหน่ง ถือเป็นการแสดงความเย็นชาต่อสหภาพอุตสาหกรรมรถยนต์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ผู้ถือพันธบัตร และค่ายรถยนต์รายอื่นๆที่กำลังประสบปัญหา อีกทั้งส่งสัญญาณว่าหากบริษัทรถยนต์รายใดต้องการอยู่รอดก็ควรจะเฉือนเนื้อตัวเองบ้าง

การบีบซีอีโอจีเอ็มลาออกถือเป็นการตบหน้าอุตสาหกรรมกลุ่มบิ๊กทรีของสหรัฐ และส่งสัญญาณว่าคณะทำงานของประธานาธิบดีบารัค โอบามา มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อย่างถึงพริกถึงขิง และยอมถอยหลังหนึ่งก้าวอย่างไม่กลัวเสียหน้า

คณะทำงานเฉพาะกิจด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐมีมติคัดค้านแผนการปรับโครงสร้างของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ (จีเอ็ม) และบริษัทไครสเลอร์ โดยให้เหตุผลว่าค่ายรถยนต์ทั้งสองไม่ได้นำเสนอแผนปรับโครงสร้างที่น่าเชื่อถือถึงขนาดทำให้กิจการดำรงอยู่ต่อไปได้ และคาดว่าค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอาจดำเนินกิจการต่อไปได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น

วาโกเนอร์ ลาออกจากตำแหน่งซีอีโอจีเอ็มมตามคำขอของคณะทำงานโอบามาในวันนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขที่ต้องทำก่อนการปรับโครงสร้างภายในบริษัท พร้อมกันนี้ จีเอ็มได้แต่งตั้ง ฟริทซ์ เฮนเดอร์สัน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายดำเนินงานคนปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งซีอีโอคนใหม่ โดยจะมีผลในทันที

โดยประธานาธิบดีโอบามามีกำหนดแถลงการณ์เรื่องทิศทางของจีเอ็มและไครสเลอร์อย่างเป็นทางการในเวลา 22.00 น.คืนนี้ตามเวลาประเทศไทย

คณะทำงานระบุว่า ไครส์เลอร์ไม่สามารถดำเนินธุรกิจตามแผนการปัจจุบันได้ แม้รัฐบาลให้เวลา 30 วันในการควบรวมกิจการกับบริษัท เฟียต เอสพีเอของอิตาลี และเสนอว่าจะให้เงินช่วยเหลือ 6 พันล้านดอลลาร์หากบริษัทสามารถทำข้อตกลงกับเฟียตได้ก่อนเวลาที่กำหนด แต่หากไครสเลอร์ไม่สามารถควบรวมกิจการกับเฟียตได้ รัฐบาลก็จะตัดความช่วยเหลือทันที

ส่วนกรณีของจีเอ็มนั้น คณะทำงานให้เวลา 60 วันในการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อแลกกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน พร้อมกับวางเงื่อนว่าซีอีโอของจีเอ็มควรจะลาออกจากตำแหน่ง

แต่นายเธดดิอุส แมคคอตเตอร์ ส.ส.พรรครีพับลิกันมองว่า "เงื่อนไขเหล่านี้ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายๆ และการตัดสินใจของคณะทำงานสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่เชื่อว่าการที่จีเอ็มและไครสเลอร์ปลดพนักงานไปแล้ว 50,000 คนและปิดโรงงานหลายแห่งนั้น ยังไม่มากพอ เราอาจจะได้เห็นจีเอ็มละลายภายใน 60 วันหลังจากนี้ และไครสเลอร์อาจล้มละลายใน 30 วันหลังจากนี้" สำนักข่าวเอพีรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ