โพลล์หอการค้าเผยธุรกิจส่วนใหญ่ขาดสภาพคล่องหนัก คาดประคองต่อได้แค่ 8 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 2, 2009 15:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสภาพคล่องและสถานภาพธุรกิจไทย โดยสำรวจจากภาคธุรกิจ ทั้งภาคเกษตร การค้า บริการ และการผลิต พบว่าผู้ประกอบการ 74.9% ระบุว่าปัจจุบันขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ถึง 92.9% มาจากปัญหายอดคำสั่งซื้อลดลง รองลงมา คือ ปัญหาด้านหลักทรัพย์ค้ำประกัน, แหล่งเงินกู้ไม่ปล่อยสินเชื่อ และลูกค้าไม่จ่ายค่าสินค้า

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่นำกำไรสะสมออกมาใช้ รองลงมา คือ ขอสินเชื่อจากธนาคารอื่นๆ, เจรจาขอผ่อนผันชำระหนี้หรือชำระหนี้เท่าที่มีอยู่, หยุดชำระหนี้หรือเลิกกิจการ

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องนั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีความสามารถประคับประคองธุรกิจได้เพียง 8.6 เดือนเท่านั้น โดยธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องถึง 100% ได้แก่ ธุรกิจอาหาร, สิ่งทอ, เคมีภัณฑ์, อิเล็กทรอนิกส์, เหล็ก, เครื่องใช้ไฟฟ้า, โรงแรมและภัตตาคาร, สุขภาพ (สปา นวด), ค้าส่งและค้าปลีก ในขณะนี้จึงยังไม่มีแผนขยายการลงทุนและขยายตลาด แต่จะขอสินเชื่อเพิ่มเพื่อดำเนินธุรกิจต่อ ส่วนการลงทุนเพิ่มและขยายตลาดจะเริ่มในต้นปี 53

เมื่อถามถึงทัศนะต่อเศรษฐกิจและธุรกิจไทย ส่วนใหญ่ระบุว่าปัญหาการเมืองภายในประเทศที่เกิดขึ้นอีกครั้งเป็นปัจจัยลบต่อการทำธุรกิจและเศรษฐกิจไทย ตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจโลก นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐบาลที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตลดลง -2% ถึง -1% ส่วนปี 53 ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3-4%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณถดถอยต่อเนื่อง และปีนี้จะ -2% ถึง -1% สอดคล้องกับการคาดการณ์ของศูนย์ฯ ที่คาดว่าจะ -2.8% ส่วนปี 53 จะดีขึ้น โดยภาคธุรกิจคาดว่าเศรษฐกิจขยายตัวที่ 3-4% เช่นเดียวกับที่ศูนย์ฯ คาดว่าจะขยายตัว 3-5% แต่รัฐบาลต้องเร่งลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย การจ้างงาน ขณะเดียวกันต้องเร่งรัดให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลปล่อยสินเชื่อให้ภาคธุรกิจมากขึ้นด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถผ่อนชำระหนี้ลดลง และเสี่ยงที่จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพราะมีรายได้และกำไรจากการขายสินค้าลดลง ลูกค้าขอยืดเวลาการชำระค่าสินค้านานถึง 30-90 วัน และไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ เพราะธนาคารเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ

ดังนั้นจึงต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหา เช่น ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 6 เดือน ผ่อนปรนเกณฑ์ขอกู้หรือประสานธนาคารยอมให้ผู้ส่งออกนำ L/C จากลูกค้าที่ขอยืดเวลาชำระเงินค่าสินค้ามาขึ้นเงินสดได้ทันที เพราะหากไม่สามารถแก้ปัญหาสภาพคล่องได้ก็จะทยอยปลดคนงาน เพื่อประคอธุรกิจให้อยู่รอด ทั้งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ