(เพิ่มเติม) ฟิทช์ประกาศลดอันดับเครดิต 4 แบงค์ไทย หลังหั่นเครดิต IDR ของไทย

ข่าวต่างประเทศ Friday April 17, 2009 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารของไทย 4 แห่งได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) (SCBT) และธนาคารยูโอบี (UOBT) และยังได้ทบทวนแนวโน้มสู่ระดับมีเสถียรภาพจากเดิมที่ระดับลบ ซึ่งการประกาศลดอันดับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ของไทยลงสู่ระดับ BBB จากเดิม BBB+ และลดอันดับเครดิต IDR สกุลเงินบาทระยะยาวลงสู่ระดับ A- จากเดิม A

ขณะเดียวกันฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต IDR สกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นลงสู่ระดับ F3 จากเดิมที่ระดับ F2 และลดอันดับเครดิต Country Ceiling ลงสู่ระดับ BBB+ จากระดับเดิมที่ A- อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ประกาศทบทวนแนวโน้มความน่าเชื่อถือของไทยเป็น มีเสถียรภาพ จากเดิม เป็นลบ

การลดอันดับ KTB และ EXIM สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการให้การสนับสนุนภาคการธนาคารของรัฐบาลที่อ่อนตัวลง หากมีความจำเป็น โดยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้น KTB อยู่ 55% ในขณะที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดใน EXIM

การปรับลดอันดับเครดิตสากลของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT) และ ธนาคารยูโอบี (UOBT) เป็นผลมาจากการปรับลด Country Ceiling ของประเทศไทย โดย Country Ceiling ได้พิจารณาถึงความเสี่ยงในด้านการโอนเงินออกนอกประเทศ และการแลกเปลี่ยนสกุลเงินในประเทศเป็นสกุลเงินต่างประเทศ (transfer and convertibility risks) และจำกัดระดับของการสนับสนุนจากบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศที่มีต่อธนาคารไทยที่เป็นบริษัทลูก ที่สะท้อนอยู่ในอันดับเครดิตสากลระยะยาวของบริษัทลูก

สำหรับอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชน 5 แห่ง ซึ่งรวมถึง ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารทหารไทย (TMB) ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศ เนื่องจากอันดับเครดิตของธนาคาร 5 แห่งดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวธนาคารเอง ซึ่งยังจัดว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การหดตัวที่รุนแรงของเศรษฐกิจ (ฟิทช์ประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 3.8% ในปี 2552) อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคารในอีก 2 ปีข้างหน้า ดังนั้นแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชนทั้ง 5 แห่งจึงยังคงเป็นลบอยู่ การถือหุ้นและการควบคุมของรัฐบาลในธนาคารเอกชนอยู่ในระดับที่จำกัดและธนาคารเอกชนมีการลงทุนในตราสารของรัฐบาลไทยและมีการปล่อยสินเชื่อให้รัฐบาลรวมกันในสัดส่วนที่ต่ำกว่า 20% ของสินทรัพย์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่สูงนัก

เนื่องจากการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) เป็นการจัดอันดับในเชิงเปรียบเทียบระหว่างอันดับเครดิตของประเทศและบริษัทผู้ออกตราสารหนี้อื่นๆในประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของอันดับเครดิตภายในประเทศในขณะนี้ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB EXIM SCBT และ UOBT ได้รับการคงอันดับโดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ รายละเอียดของอันดับเครดิตของธนาคารที่ได้รับผลกระทบมีดังนี้

ธนาคารกรุงไทย:

-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ปรับลดเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นปรับลดเป็น ‘F3’ จาก ‘F2’
-          อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงไว้ที่ ‘C/D’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนคงไว้ที่ ‘2’
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิปรับลดเป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) จาก ‘BBB’
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่  1 (Tier 1 hybrid) ปรับลดเป็น ‘BB’ จาก ‘BB+’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ(Support Rating Floor) ปรับลดเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงไว้ที่ ‘AA+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F1+(tha)’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงไว้ที่ ‘AA(tha)’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities คงไว้ที่ ‘A(tha)’

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย:

-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ปรับลดเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นปรับลดเป็น ‘F3’ จาก ‘F2’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนคงไว้ที่ ‘2’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ปรับลดเป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB+’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศ ระยะยาวคงไว้ที่ ‘AAA(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F1+(tha)’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันคงไว้ที่ ‘AAA(tha)’

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย):

-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศระยะยาว IDR ปรับลดเป็น ‘BBB+’ จาก ‘A-’ (A ลบ) /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและสกุลเงินในประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F2’
-          อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงไว้ที่ ‘B/C’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนปรับลดเป็น ‘2’ จาก ‘1’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงไว้ที่ ‘AA+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-           อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F1+(tha)’

ธนาคารยูโอบี:

-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว IDR ปรับลดเป็น ‘BBB+’ จาก ‘A-’ (A ลบ) /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F2’
-          อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินคงไว้ที่ ‘C’
-          อันดับเครดิตสนับสนุนปรับลดเป็น ‘2’ จาก ‘1’
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงไว้ที่ ‘AA+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
-          อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงไว้ที่ ‘F1+(tha)’





เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ