BOI ปรับเงื่อนไขส่งเสริมลงทุนอู่ต่อเรือ-โซลาร์เซลล์-แม่พิมพ์

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 21, 2009 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) เห็นชอบตามข้อเสนอของบีโอไอในการปรับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เอื้อต่อการลงทุน และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้มีการปรับเงื่อนไขใน 3 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือ, กิจการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI)

โดยกิจการต่อเรือหรือซ่อมเรือ ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนจากเดิมที่กำหนดให้ต้องตั้งสถานประกอบการในเขต 2 หรือ 3 เป็น ไม่จำกัดเขตที่ตั้ง แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขต้องได้รับมาตรฐาน ISO 14000 ภายใน 2 ปีนับตั้งแต่เปิดดำเนินการสำหรับโครงการที่ตั้งในเขต 1 ทุกขนาดการลงทุน เนื่องจากปัจจุบันมีอู่เรืออยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเขต 1 มากกว่าอู่เรือที่อยู่ในทะเล และเป็นเรื่องยากที่จะหาพื้นที่บริเวณชายฝั่งมาทำกิจการอู่ต่อหรือซ่อมเรือ ดังนั้นหากจะส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้จำเป็นต้องอนุญาตให้อยู่ในเขต 1 ได้ในระยะแรก และใช้มาตรการด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมมาบังคับใช้กับบริษัทผู้ขอทุกราย

สำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ได้เพิ่มการส่งเสริมเพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ จากปัจจุบันให้ส่งเสริมเฉพาะเซลล์แสงอาทิตย์ โดยแก้ไขประเภทเดิมจากเซลล์แสงอาทิตย์ ให้ครอบคลุมตั้งแต่ วัตถุดิบสำหรับการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ได้แก่ ซิลิกอนบริสุทธิ์ แผ่นเวเฟอร์ กระจกเคลือบขั้ว โปร่งแสง นำไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งมีเทคโนโลยีสูง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

สำหรับนโยบายการให้สิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมสำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรม (STI) จะเป็นการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้มีผู้ลงทุนด้าน STI มากขึ้น โดยโครงการที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 31 อยู่เดิม และมีรายได้แล้ว สามารถขอรับสิทธิเพิ่มเติมได้ แต่ในวันที่ยื่นขอสิทธิจะต้องมีสิทธิตามมาตรา 31 เหลืออยู่ จากเดิมที่ต้องยื่นขอก่อนมีรายได้

นางอรรชกา กล่าวด้วยว่า บอร์ดบีโอไอยังได้ขยายเวลาการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับแม่พิมพ์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.52 ต่อไปอีก 3 ปี จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.55 เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่ยังจำเป็นต้องนำเข้าแม่พิมพ์ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญต่อการผลิตให้สามารถดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี้ และเป็นไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 ระหว่างปี 53-55 ของรัฐบาล

โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับการส่งเสริมผลิตแม่พิมพ์รวม 295 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 38,424 ล้านบาท และต้องมีการนำเข้าแม่พิมพ์เป็นมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงที่ผ่านมา



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ