สภาพัฒน์เตรียมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปี 52 ใหม่หลังดัชนีหดตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 22, 2009 20:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) เผยเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 52 ใหม่ในเดือน พ.ค.นี้ หลังพบดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวในไตรมาสแรกหดตัวอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ทั้งการส่งออก ภาวะเศรษฐกิจโลก การบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากกว่า 2% แน่นอน จากที่คาดว่าหดตัวสูงสุดที่ 1% ขณะที่ในไตรมาสแรกหดตัวมากกว่า 4-5%

"การส่งออกในไตรมาสแรกหดตัวลงถึง 25% จากที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 10-15% ขณะที่เศรษฐกิจโลกหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประเมินล่าสุดและที่มีการรายงานในที่ประชุมกลุ่มประเทศจี 20 คาดว่าสหรัฐฯ หดตัวถึง 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 0.5% ส่วนญี่ปุ่นหดตัวถึง 2-3% และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะต่ำสุดเมื่อใด ขณะที่ตัวเลขลงทุนของเอกชนหดตัวถึง 7.9% จากที่คาดว่าหดตัวเพียง 2-3% ส่วนการบริโภคเอกชนหดตัว 4-5%" นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

สำหรับจีดีพีในปี 52 จะหดตัวเท่าใดต้องรอผลการประเมินที่ชัดเจนซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนผลกระทบจากการชุมนุมจะมีผลกระทบในระยะยาว ทั้งด้านการลงทุนและการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลที่จะทำให้การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพโดยผ่านกระบวนการประชาธิปไตยในรัฐสภา

ก่อนหน้านี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า จีดีพีปีนี้อาจติดลบ 4-5%

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า การบริหารเศรษฐกิจจากนี้ไปยังไม่เปลี่ยนแปลงที่เน้นการลงทุนของรัฐบาลตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 วงเงิน 1.56 ล้านล้านบาท ในช่วง 3 ปี(53-55) แต่อาจปรับปรุงโครงการให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้มั่นคงในระยะยาว ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการแข่งขัน สังคม การศึกษา สาธารณสุขและการสร้างความเข้มแข็งในชุมชน การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร เป็นต้น

"จากสมมุติฐานหากเศรษฐกิจไทยหดตัวมากถึง 5% เท่ากับว่ารายได้ประชาชาติหรือจีดีพีจะอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปี 50 ที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมากถึง 4.8% แต่มีเงินเฟ้อสูงถึง 5-6% โดยมีจีดีพีที่ 8.4 ล้านล้านบาท หากคิดว่าปีนี้แย่ที่สุดแล้วต้องมองย้อนกลับไปในปี 50 ว่าตามข้อเท็จจริงแล้วลำบากหรือไม่ เพราะการพยายามทำให้ประเทศมั่งคั่งโดยทำให้จีดีพีมีมูลค่าสูง แต่อาจไม่ทำให้เกิดความมั่นคงในระยะยาวได้ ซึ่งการที่รัฐบาลยอมรับความจริงและใช้ทางสายกลางในการแก้ไขปัญหาตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าถูกต้องแล้ว" นายอำพน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ