นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัญหาการเร่งตัวของหนี้ภาคครัวเรือนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นภาวะที่เกิดขึ้นปกติ โดยหนี้ที่ค้างชำระ 1-2 เดือนแต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)เร่งตัวมากขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์ก็ต่างใช้ความพยายามที่จะดูแลลูกค้า ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการยืดหนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการเกิดเป็น NPL
"หนี้ครัวเรือนไม่ได้เป็นปัญหากับแบงก์ แต่ที่น่าห่วงมากกว่าคือหนี้ภาคธุรกิจ แต่แบงก์ก็ดูแลหนี้ทั้ง 2 ตัว เพื่อไม่ให้ก่อตัวเป็นปัญหาNPL" นางอัจนา กล่าวรายงานข่าวจาก ธปท.เปิดเผยว่า ในช่วง 2 เดือนแรกปี 52 ความเปราะบางของหนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นชัดเจน จากผลกระทบจากของวิกฤติการเงินโลกต่อภาคธุรกิจที่มีความรุนแรงขึ้น โดยเครื่องชี้ในตลาดแรงงาน เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงานปกติและล่วงเวลาปรับลดลง การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและการบริการบางสาขาที่หดตัวลง รวมทั้งอัตราการว่างงานที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และการมีงานทำ ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนด้อยลง
หนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นบ่งชี้ได้จากสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือค้างชำระตั้งแต่ 1-3 เดือนของสินเชื่อผู้บริโภค ทั้งในส่วนของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่าซื้อรถยนต์ และ บัตรเครดิตที่เริ่มปรับสูงขึ้น ขณะที่ระยะต่อไปความเสี่ยงต่อรายได้และการมีงานทำของภาคครัวเรือนจะสูงขึ้นอีกจากผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่คลี่คลาย
หากพิจารณาจากข้อมูลสำมะโนครัวอุตสาหกรรมปี 50 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีแรงงานภาคที่พึ่งพาการส่งออกสูงถึง1.2 ล้านคนที่ถือเป็นแรงงานที่ได้รับความเสี่ยงโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ขณะที่แรงงานที่เหลือประมาณ 3 ล้านคนแม้จะทำงานในอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก แต่อาจได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว
"แม้เสถียรภาพของภาคครัวเรือนโดยรวมมีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น จากผลกระทบทั้งเศรษฐกิจในและนอกประเทศ ค่าครองชีพที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ความระมัดระวังในการก่อหนี้ของครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมา จะเป็นปัจจัยบรรเทาความรุนแรงของความเสี่ยงลดลงได้บ้าง" รายงาน ระบุ