ออสเตรเลียเผยเศรษฐกิจในปท.ยังซบเซา แม้จีดีพีไตรมาสแรกกระเตื้อง 0.4%

ข่าวต่างประเทศ Thursday June 4, 2009 09:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เศรษฐกิจออสเตรเลียที่ขยายตัวดีเกินคาดเมื่อไตรมาสที่แล้วจากปัจจัยหนุนของการจ่ายเงินช่วยเหลือของรัฐบาลประกอบกับการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่กระตุ้นการใช้จ่ายผู้บริโภคนั้นอาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่บดบังเนื้อแท้ของเศรษฐกิจที่ซบเซา

สำนักงานสถิติออสเตรเลียเผยว่า ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 0.4% จากไตรมาสก่อนหน้านี้ หลังจากที่รัฐบาลได้จ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (9.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งนายกรัฐมนตรีเควิน รัดด์ กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่จัดสรรเงินช่วยเหลือแล้วละก็เศรษฐกิจออสเตรเลียในไตรมาสดังกล่าวจะตกต่ำลงประมาณ 0.2%

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ค่อยสดใสนัก ดังจะเห็นได้จากยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรร่วงลงหนักสุดนับตั้งแต่ปี 2534 โดยบริษัทเหมืองอย่างบีเอชพี บิลลิตัน และริโอ ทินโต ได้ปรับลดการใช้จ่าย โละพนักงานและปิดเหมืองในออสเตรเลียเพราะวิกฤตอุปสงค์ตกต่ำนับตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่นั้นได้ฉุดรั้งอุปสงค์สินค้าโภคภัณฑ์ให้ลดลงตามมา ซึ่งริโอ ทินโตได้ปรับลดการใช้จ่ายทั่วโลกลง 5 - 4 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่บีเอชพีปิดเหมืองถ่านหินมูลค่า 2.2 พันล้านดอลลาร์ในเวสเทิร์น ออสเตรเลีย

โรเบิร์ต คันนีน นักวิเคราะห์จากเอเอ็มพี แคปิตอล "ออสเตรเลียยังโชคดี แต่โอกาสที่ดีอาจเลือนรางลลงหากข้อมูลเศรษฐกิจบางรายการยังย่ำแย่ โดยเฉพาะการลงทุนภาคธุรกิจที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าดิ่งลงอย่างรวดเร็ว"

ด้านเวนย์ สวอน รัฐมนตรีคลังออสเตรเลียกล่าวว่า "แม้ตัวเลขจีดีพีจะออกมาเป็นบวก แต่ข้อมูลดังกล่าวยังบ่งชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศอยู่ นอกจากนี้ การลงทุนภาคธุรกิจที่ลดลงอาจสร้างความเสียหายให้กับออสเตรเลียในอนาคต"

ทั้งนี้ ผลผลิตในอุตสาหกรรมเหมืองตกลง 1.5% ในไตรมาสแรก ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสหกรรมและภาคการก่อสร้างทรุดฮวบลง 3.3% นอกจากนี้ บริษัทยังปรับลดการใช้จ่ายทำให้ยอดนำเข้าตกลง 7%

ด้านนักวิเคราะห์จากออสเตรเลีย อินดัสทรี้ กรุ๊ปกล่าวว่า ยอดนำเข้าที่ลดลงสะท้อนให้เห็นว่า อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแออย่างหนัก และเรายังคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาวะปกติ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ