ศูนย์วิจัยกสิกรฯ แนะรัฐศึกษารอบคอบก่อนใช้เงินสำรองส่วนเกินกระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 11, 2009 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เตือนรัฐบาลศึกษาผลกระทบให้รอบคอบในการนำเงินทุนสำรองทางการระหว่างประเทศส่วนเกินมาใช้ลงทุนในการพัฒนาประเทศ ทั้งผลต่อการเพิ่มปริมาณเงินในระบบอันจะเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ตลอดจนต้นทุนการดำเนินธุรกิจของทั้งภาครัฐและเอกชน

นอกจากนี้ ก็อาจสร้างคำถามถึงปัญหาวินัยทางการคลัง ความโปร่งใสในการบริหารประเทศของรัฐบาล ตลอดจนปัญหาความเสี่ยงจากการลงทุนที่อาจสูงเกินไปจนผิดไปจากความตั้งใจในการร่างกฎหมายเริ่มแรกที่ต้องการให้ทุนสำรองเป็นแหล่งสะสมความมั่งคั่งและสร้างเสริมเสถียรภาพทางการเงินระยะยาวของประเทศ

"ทางการไทยและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คงต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังกล่าวอย่างรอบคอบ และรัดกุม เพื่อนำมาสู่การหาทางออกในการลดข้อจำกัดทางการคลังที่เหมาะสมต่อไป"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าว

จากการที่ทางการไทยอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศ มาใช้พัฒนาประเทศในทางปฏิบัติเห็นว่าการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศในปัจจุบัน อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายที่ชัดเจน ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำนวนสูงกว่าธนบัตรออกใช้มาก

ปัจจุบัน ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ณ 29 พ.ค.52 อยู่ที่ 1.21 แสนล้านดอลลาร์(ไม่รวมฐานะ Forward) จะถูกเก็บรักษา โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่อยู่ในรูปสินทรัพย์ต่างประเทศที่กระจายอยู่หลายส่วนด้วยกัน ทั้งที่ฝ่ายการธนาคาร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลและบริหารนโยบายการเงิน ตลอดจนอัตราแลกเปลี่ยน และฝ่ายออกบัตรธนาคารที่เน้นหน้าที่ในการบริหารและจัดการธนบัตรที่นำออกใช้หมุนเวียนในประเทศ

ขณะที่มีกฎหมายดูแลการจัดการและบริหารงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยสินทรัพย์ต่างประเทศที่นับเป็นทุนสำรองฯ ของฝ่ายการธนาคารจะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ขณะที่ทุนสำรองฯ ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายออกบัตรธนาคาร จะอยู่ภายใต้การดูแลของ พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 ซึ่งกำหนดให้ ธปท.ต้องแยกทุนสำรองเงินตราออกจากสินทรัพย์อื่นๆ ที่เป็นของ ธปท.

ในทางปฏิบัติ ธปท.จึงจัดทำงบการเงิน 3 งบด้วยกัน ได้แก่ งบการเงินของ ฝ่ายการธนาคาร, งบการเงินของ ฝ่ายออกบัตรธนาคาร และ งบการเงินของทุนสำรองเงินตรา ซึ่งมีอีก 3 บัญชีย่อย ได้แก่ บัญชีทุนสำรองเงินตราเพื่อหนุนหลังการออกใช้ธนบัตร, บัญชีผลประโยชน์ประจำปี ซึ่งเทียบได้กับงบกำไรขาดทุนของกิจการ โดยจะสะท้อนรายได้และค่าใช้จ่ายในแต่ละปี และบัญชีสำรองพิเศษ ซึ่งเทียบเคียงได้กับบัญชีกำไรสะสมของกิจการ

แม้จะมีข้อเสนอในการนำทุนสำรองใช้ในการลงทุนพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะทุนสำรองส่วนที่เกิน เป็นความจำเป็นในภาวะที่รัฐบาลกำลังประสบกับปัญหาข้อจำกัดทางการคลัง แต่การดำเนินการอาจต้องอาศัยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ ขนาดของทุนสำรองฯ ที่สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ ขึ้นกับการประเมินจำนวนทุนสำรองส่วนเกิน ซึ่งควรจะวัดจากทุนสำรองที่ปราศจากภาระผูกพันไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่างประเทศ การหนุนหลังธนบัตรออกใช้และการนำเข้า โดยจากการคำนวณเบื้องต้นในลักษณะอนุรักษ์นิยม(Conservatives)แล้วจะพบว่าทุนสำรองส่วนเกินที่หักภาระต่างๆ ดังกล่าวจะมีจำนวนเพียงประมาณ 69,600 ล้านบาท หรือประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับจำนวนทุนสำรองฯในปัจจุบัน

ดังนั้น ทุนสำรองส่วนเกิน แม้จะมองว่าเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ แต่ก็ควรจะใช้อย่างระมัดระวัง และเหลือไว้รองรับกรณีฉุกเฉินด้วย ขณะเดียวกัน ทางการไทยคงต้องตระหนักถึงผลกระทบที่อาจตามมาอย่างรอบคอบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ