สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม H1/52 ติดลบ 16.5% คาดเห็นบวกปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 4, 2009 16:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) คาดการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยกว่าครึ่งปีแรก โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมช่วงครึ่งปีแรกติดลบ 16.5% หลังจากไตรมาสแรกติดลบ 22% และไตรมาสสองติดลบ 10.7% ส่วนไตรมาสสามคาดว่าจะติดลบน้อยลงเหลือ 5% และเป็นบวกในไตรมาส 4 ที่ 3.7% ส่งผลให้ปีนี้จะติดลบ 8-10% ส่วนในปีหน้าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเป็นบวกที่ 3.9%

ด้านอัตราการใช้กำลังการผลิตครึ่งแรกปี 2552 อยู่ที่ 53.02% ไตรมาสแรกอยู่ที่ 52.15% ไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 54-56% และในไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มขึ้นเป็น 61.5% ส่งผลให้เฉลี่ยทั้งปี 56% ขณะที่ปี 2551 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 62.62% โดยเดือน ม.ค.52 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำสุดที่ 49.9%

ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกติดลบอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกติดลบ 18.7% ไตรมาส 2 ติดลบ 25.6% ทำให้ครึ่งปีแรกติดลบรวม 22.2% และตลอดทั้งปีประมาณว่า การส่งออกภาคอุตสาหกรรมจะติดลบ 20-22% ส่วนการนำเข้าครึ่งปีแรกติดลบ 35.41% โดยการนำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงหดตัวมากที่สุด ครึ่งปีแรกติดลบ 44.9% รองลงมา คือ วัตถุดิบ โดยในช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย.52 การนำเข้าติดลบ 40.73%

ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมแม้จะไม่หวือหวาแต่เป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ขณะที่ภายในประเทศมีมาตรการกระตุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้หากเขียนเป็นกราฟจะเป็นรูปตัววีเขียนเล็ก เนื่องจากยังมีผลกระทบด้านการเมืองและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 รวมทั้งปัจจัยราคาน้ำมัน

โดยอุตสาหกรรมแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกประกอบด้วยยา อาหาร และเคมีภัณฑ์ กลุ่มปานกลาง ได้แก่ ยานยนต์ ปูนซีเมนต์ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก กระดาษ สิ่งทอต้นน้ำ และกลุ่มที่ไม่แน่นอน ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อัญมณี ปิโตรเคมี เฟอร์นิเจอร์ รองเท้า และเซรามิก

สำหรับสัญญาณที่ฟื้นชัดเจนนั้นผู้ประกอบการควรคำนึงถึงการผลิตที่ได้มาตรฐาน ตรงต่อเวลา ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงการพัฒนาประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้เหนือคู่แข่ง โดยอยากให้รัฐบาลดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพไม่ให้แข็งค่ากว่าคู่แข่งขัน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้าของไทยให้ดีกว่าปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ