ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาด กนง. 26 ส.ค.คงดอกเบี้ยนโยบาย 1.25%ลากยาวถึง Q2/53

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2009 16:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันที่ 26 ส.ค.นี้จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% และน่าจะคงอยู่ในระดับนี้ไปอีกอย่างน้อยจนถึงช่วงไตรมาส 2/53 เนื่องจากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีน้ำหนักที่เด่นชัดอยู่มาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังมีระดับต่ำและไม่น่าจะเป็นประเด็นที่น่ากังวลในระยะอันใกล้

แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญในบางภาคส่วนจะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น ตั้งแต่ไตรมาส 2/52 และน่าที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นในระยะถัดไป แต่กว่าที่การฟื้นตัวจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและทั่วถึงคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น การดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายการเงินที่ระดับอัตราดอกเบี้ยต่ำ ควบคู่กับการเร่งดำเนินการตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยตลอดระยะที่เหลือของปีนี้

สำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะมีแนวโน้มยังไม่เปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้ แต่ความคาดหวังเชิงบวกต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และความต้องการระดมเงินทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้อัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ โดยเฉพาะสำหรับตราสารระยะยาวมีทิศทางที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์คงจะมีแนวโน้มทยอยนำเสนอโครงการเงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปออกมาเป็นระยะๆ ในช่วงที่เหลือของปีนี้เช่นกันในขณะเดียวกัน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้กับช่องทางการออมอื่นๆ รวมทั้งเพื่อรักษาฐานเงินทุนและลูกค้าไว้

ส่วนการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของ ธปท.วงเงินเบื้องต้น 5 หมื่นล้านบาทที่จะขายนักลงทุนรายย่อยในวันที่ 3-7 ก.ย.52 คงจะไม่มีผลกระทบมากนักต่อสภาพคล่องในระบบ เนื่องจาก ธปท.น่าจะนำเงินที่ได้จากการออกพันธบัตรดังกล่าวไปรองรับการครบกำหนดของพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติ ประเภทอายุ 7 ปี จำนวน 5.4 หมื่นล้านบาท ที่กระทรวงการคลังได้ออกตามแผนการบริหารจัดการหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินในปี 2545 (FIDF3) ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 ก.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม หาก ธปท.มีการขยายวงเงินการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนที่อาจมีมากเกินวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท คงต้องติดตามว่า ธปท.จะมีการจัดสรรเงินส่วนที่ได้รับจากการขยายวงเงินเพิ่มเติมดังกล่าว ตลอดจนจากแผนการออกพันธบัตรในระยะต่อไป เพราะวัตถุประสงค์ของการใช้เงินในส่วนนั้นๆ จะเป็นปัจจัยที่กำหนดผลกระทบต่อสภาพคล่องในระบบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ