โพลล์ม.หอการค้า เผยเกษตรกรพอใจนโยบายประกันรายได้-แก้หนี้นอกระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 26, 2009 15:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการการสำรวจเกษตรกร 2,018 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 8-15 พ.ย.52 เกี่ยวกับทัศนะต่อนโยบายของรัฐ : นโยบายการประกันรายได้เกษตร และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่พึงพอใจต่อนโยบายของรัฐบาล โดยนโยบายไทยเข้มแข็ง ส่วนใหญ่ 30.8% ระบุว่าพอใจมาก ขณะที่นโยบายประกันรายได้นั้น 35.5% บอกว่าพอใจมาก และ การแก้ไขหนี้นอกระบบ 33.6% พอใจมาก

ส่วนภาระหนี้สินของเกษตรกรปัจจุบันอยู่ที่ 243,938.60 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อนที่มี 210,387 บาท/ครัวเรือน โดยเป็นหนี้ในระบบ 56.25% และหนี้นอกระบบ 43.75% ซึ่งหนี้นอกระบบ ผ่อนชำระ 9,608.53 บาท/เดือน ดอกเบี้ย 10.40% ต่อเดือน หรือ 124.8% ต่อปี ขณะที่หนี้ในระบบผ่อนชำระ 6,609.75 บาท/เดือน ดอกเบี้ย 7.42% ต่อปี

ทั้งนี้ประชาชนส่วนใหญ่ 66.7% สนใจเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล เพราะทำให้ลดดอกเบี้ยจ่าย มีเงินเหลือเก็บ และใช้จ่ายมากขึ้น แต่อีก 33.3% ไม่เข้าร่วม เพราะไม่รู้ว่าจะไปลงทะเบียนที่ไหน และบางส่วนไม่มีหนี้นอกระบบ

ขณะที่ทัศนะต่อนโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล 43% ระบุว่าพอใจมากกว่าโครงการรับจำนำ ขณะที่ 34.3% ระบุว่าพอใจเท่ากัน และอยากให้มีทั้ง 2 โครงการเพื่อพยุงราคาข้าว แต่เมื่อถามถึงการเปรียบเทียบราคาสินค้าเกษตรในโครงการประกันรายได้ และโครงการรับจำนำ 60% ระบุว่าราคาประกันรายได้สูงกว่า อีก 40% ระบุว่าการรับจำนำได้ราคาสูงกว่า

และทัศนะต่อการรวมตัวจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในมุมมองของเกษตรกร พบว่า 70% ไม่รู้จัก มีเพียง 25.4% รู้จักปานกลาง และ 3.7% รู้จักมาก ส่วน 0.6% บอกว่ารู้จักมากที่สุด ส่วนผลกระทบจากการเปิดเสรี กลุ่มตัวอย่าง 48% ระบุไม่มีผลกระทบเลย เพราะไม่ทราบข่าวสาร และปริมาณผลผลิตมีน้อย ส่วน 52% ระบุมีผลกระทบ โดยการเปิดเสรีทำให้นำเข้าผลผลิตจากเพื่อนบ้านมากขึ้น กดดันให้ราคาในประเทศตกต่ำ มีการแข่งขันรุนแรง รายได้ลดลง

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า ภาคการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่มีประชากรในภาคเกษตรกรประมาณ 24-30 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรทั้งหมด และมี 60 จังหวัดทั่วประเทศที่พึ่งพาการเกษตร ซึ่งหากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น และจะเป็นส่วนผลักดันให้เศรษฐกิจในปี 53 เติบโตได้ 3% และหากราคาสินค้าเกษตรยังสูงขึ้นในปีต่อๆ ไปเฉลี่ยที่ 15% จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยใน 3-5 ปี สามารถเติบโตได้ในอัตราเกิน 5% ต่อปีได้



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ