ครม.ศก.สั่งทีโอที-กสท.-สคร.สางปัญหาสัญญาสัมปทานมือถือภายใน 90 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 2, 2009 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเห็นชอบในหลักการให้ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย บมจ.ทีโอที, บมจ.กสท.โทรคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันให้สอดคล้องกับแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานที่รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งทั้ง ทีโอที และ กสท.ทำไว้กับบริษัทเอกชนรวม 10 ฉบับ หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วย สัญญาเกี่ยวกับสัญญาณโทรศัทพ์มือถือ สัญญาเกี่ยวกับสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ฯลฯ

ทั้งนี้ สคร.เห็นว่าทั้งทีโอที และ กสท. จะต้องดำเนินการแก้สัญญาสัมปทานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การร่วมการงานระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2535

"ที่ประชุมมีมติให้กำหนดกรอบในการแก้ไขปัญหาใน 90 วัน โดยนายกฯ กำชับให้หน่วยงานภาครัฐในกรณีที่จะให้เอกชนเข้าร่วมงานดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่างทั้งสองหน่วยงานและภาคเอกชนหลายสิบครั้งในอดีตที่ผ่านมา แต่ไม่เคยมีการนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเลย ทั้งคณะรัฐมนตรีในอดีตและปัจจุบัน ดังนั้น กระทรวงไอซีทีจึงจะต้องไปตรวจสอบว่าการแก้ไขปัญหานี้มีความไม่ถูกต้องอย่างไร เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกิดมานานและมีการเพิกเฉย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สคร.รายงานให้ ครม.เศรษฐกิจรับทราบถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับภาครัฐจากสัญญาที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท นอกจากนั้น ยังเสนอให้พิจารณาว่าการเรียกชดใช้ค่าเสียหายจะสามารถทำได้หรือไม่

"ความเสียหายที่เกิดขึ้น สคร.แจ้งว่าสัญญาที่ทำในอดีตไม่เคยมีการนำเสนอ ครม.เลย ซึ่ง สคร.ระบุว่าอะไรที่ไม่มีความร้ายแรงก็ควรจะนำเสนอ ครม.เพื่อแก้ไข อะไรที่ผิดมากก็ควรที่จะยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหาย สคร.ขอให้ ICT ทำให้เสร็จภายใน 30 วันแต่มติครม.ให้ดำเนินการใน 90 วันแทน" แหล่งข่าว ระบุ

ทั้งนี้ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.ไอซีที รับจะดูเงื่อนไขในแต่ละส่วนก่อนว่าจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาใดตามลำดับก่อนหลังและไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนเพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ขณะที่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรจะดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสัญญาใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ