KBANK ตั้งเป้าสินเชื่อบ้านปี 53 โต 13% ลุ้นรัฐต่อมาตรการภาษีอสังหาฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 18, 2009 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 52 ธนาคารปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ 122,000 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9% ซึ่งสูงกว่าตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบที่ขยายตัว 6% ส่วนปี 53 วางเป้าหมายขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัย 13% ซึ่งสูงกว่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยโดยภาพรวมที่คาดว่าขยายตัว 8%

ทั้งนี้ ในปี 53 มองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์น่าจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ขณะที่รายได้ของประชาชนจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6% ต่อปี แต่ยังปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงอัตราเงินเฟ้อ จะทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 5-10 % และส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยอาจปรับเพิ่มขึ้นตาม โดยที่ดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นบ้างเล็กน้อย

"ในปีหน้าเรามองว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นในช่วงกลางปี อย่างน้อย 0.50-0.75% ซึ่งจะส่งผลให้ดอกเบี้ยในตลาดปรับตัว แต่ปีหน้า ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นโอกาสให้ประชาชนตัดสินใจซื้อบ้านได้ ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างโดยรวมจะสูงขึ้น 5-10% แต่เมื่อหักกลบกับรายได้ประชาชนที่เพิ่มขึ้น 6% ก็ถือว่าเสมอตัว ไม่ได้มีผลอะไร"นายชาติชาย กล่าว

นายชาติชาย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น เชื่อว่าในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ซื้อบ้านที่นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 300,000 บาท ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการภายในสิ้นปี 52 นี้ เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่มีการต่ออายุมาตรการ เนื่องจากเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น และแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้นแล้ว

ส่วนการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ ค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ซึ่งจะสิ้นสุด 31 มี.ค.53 เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะต่ออายุมาตรการต่อไปอีก เพราะเป็นประโยชน์ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการ และผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ที่ช่วยลดภาระโดยรวมได้ถึง 6%

"เชื่อว่าผู้ประกอบการเองก็อยากเรียกร้องให้รัฐบาลต่ออายุการลดภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้ ซึ่งปี 52 มาตรการภาษีนี้ ถือว่าช่วยกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยได้มาก" นายชาติชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ขณะนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไม่มีการสร้างราคาจนเกินมูลค่า หรือมีสินค้าล้นตลาดจนอาจกลายเป็นวิกฤติฟองสบู่ เหมือนช่วงปี 40 โดยพบว่าขณะนี้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ปีละ 70,000-80,000 ยูนิต รองรับความต้องการของผู้บริโภคได้สมดุล ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองก็ได้รับบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ดังนั้น ทำให้การพิจารณาให้สินเชื่อ pre-finance แก่ผู้ประกอบการ ต้องมีความรอบคอบมากขึ้นอยู่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ