ผู้ผลิต-จำหน่ายยางรถยนต์ต้องปิดฉลากสินค้าส่งออกไปยุโรป เริ่ม 1 พ.ย.55

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 21, 2009 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 เป็นต้นไป สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยการปิดฉลากสินค้ายางรถยนต์ (Directive of EU Parliament and of Council on Labelling of Tyres) กำหนดให้ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายติดฉลาก หรือแสดงเอกสารทางเทคนิต เช่น แคตตาล็อก ใบปลิว เป็นต้น เพื่อให้ผู้บริโภคทราบถึงประสิทธิภาพการประหยัดพลังงาน (Fuel Efficiency) การเกาะติดถนนที่เปียก (Wet Grip) และความดังของเสียง (External Rolling Noise) ของยางล้อรถที่ใช้กับรถยนต์ประเภทส่วนบุคคล (Passenger Car) ยานยนต์ใช้งานเบา (Light Duty Vehicles) และยานยนต์ใช้งานหนัก (Heavy Duty Vehicles)

โดยการจัดระดับประสิทธิภาพการประหยัดพลังงานและการเกาะติดถนนที่เปียกของยางรถยนต์ จะกำหนดตั้งแต่ระดับดีที่สุด (สีเขียว “เอ") ถึงระดับแย่ที่สุด (สีแดง “จี") สำหรับความดังของเสียงจะกำหนดเป็นตัวเลขตามระดับหน่วยเดซิเบล (Decibels: dB) ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทดสอบที่กำหนด

วัตถุประสงค์ของมาตรการดังกล่าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ประมาณ 1.5-4.0 ล้านตันต่อปี และเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 20 เป็นไปตามนโยบายการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนของสหภาพยุโรป (EU Sustainable Energy) ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน และเพิ่มการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้ได้ระดับร้อยละ 20 ภายในปี 2563 (จากระดับของปี 2533) โดยให้ผู้บริโภคเลือกใช้ยางรถยนต์ที่ปลอดภัย ประหยัดค่าเชื้อเพลิง และมีเสียงดังน้อย

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแก่ผู้ผลิตและผู้นำเข้า เช่น การปิดฉลาก การทดสอบยางรถเพิ่มขึ้นตามกฎระเบียบนอกเหนือจากการทดสอบตามปกติ การเก็บรักษาเอกสารทางเทคนิคในการผลิตยางรถยนต์เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่สิ้นสุดการผลิตยางรุ่นนั้น

อนึ่ง ตลาดยางรถยนต์ในสหภาพยุโรปมีมูลค่าประมาณ 3,840,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกยางรถยนต์ไปสหภาพยุโรปในปี 2549-2551 มีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 10,358 ล้านบาท ซึ่งในปี 2552 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 9,151 ล้านบาทลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 20


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ