(เพิ่มเติม) กนง.คาดเงินเฟ้อทั่วไปเร่งชั่วคราวก่อนแกว่ง2-4%,เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประเมินว่ามีโอกาสค่อนข้างมากที่จะเห็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัวขึ้นเร็วถึง 3-4% ในช่วงปลายปี 52 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 53 หลังจากที่ติดลบมาเกือบตลอดทั้งปี 52

อย่างไรก็ดี กนง.ประเมินว่าการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะเป็นเรื่องชั่วคราว โดยต่อจากนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2-4% ทั้งนี้เงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไม่ได้สะท้อนแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จนทำให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่เป็นผลจากระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่สูงกว่าราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดียวกันของปีก่อน

สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและชั่วคราว ทั้งๆ ที่ราคาสินค้าและบริการในกลุ่มอื่นอาจไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และราคาน้ำมันในปัจจุบันก็ไม่ได้สูงมากไปกว่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีความผันผวนสูงมาก

ราคาน้ำมันดิบดูไบเดือน ม.ค.50 เฉลี่ยอยู่ที่ 51.7 ดอลลาร์/บาร์เรล และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงระดับสูงสุดในเดือน ก.ค.51 ที่ 131.3 ดอลลาร์/บาร์เรล ก่อนจะลดลงอย่างรวดเร็วมาเฉลี่ยอยู่ที่ 40.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ในเดือนธ.ค.51 หลังจากนั้นได้ปรับสูงขึ้นอีกครั้งจนกระทั่งปัจจุบันในเดือน พ.ย.52 เฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ดอลลาร์/บาร์เรล

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 53 จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีแรกจะเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐเป็นสำคัญ โดยประเมินว่ายังไม่มีแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ เนื่องจากเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 จะอยู่ในระดับไม่เกิน 1% แต่สูงกว่าขอบล่างของเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ 0.5-3.0%

และเมื่อมาตรการภาครัฐสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.53 จะทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน เม.ย.53 เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 0.5% แม้ว่าราคาสินค้าและบริการที่เคยได้รับการอุดหนุนจะสูงขึ้นสู่ระดับราคาปกติ ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลได้เริ่มทยอยลดการอุดหนุนลงตั้งแต่ต้นปี 53 ส่วนในเดือน พ.ค.53 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2% เนื่องจากผลของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อในปี 52 ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหมดลง เพราะดำเนินมาครบรอบ 1 ปี ทำให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ

ส่วนครึ่งหลังของปี 53 แนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อาจสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 2-3%

สำหรับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น กนง.จะพิจารณาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเป็นสำคัญ เพราะเป็นเครื่องสะท้อนแรงกดดันต่อราคาสินค้าที่เกิดจากอุปสงค์ได้ดีกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป นอกจากนั้น ยังพิจารณาถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจอื่นประกอบไปด้วย เช่น แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ, ภาวะการจ้างงาน และอัตราการใช้กำลังการผลิต และความไม่สมดุลทางการเงินในด้านต่างๆ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว จึงยังไม่มีแรงกดดันต่อเสถียรภาพด้านราคาในขณะนี้ แต่แรงกดดันจะมีมากขึ้นเป็นลำดับสอดคล้องกับประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และคาดว่าจะอยู่ประมาณค่ากลางของช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 53 แต่ในระยะต่อไปเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวได้แข็งแกร่งขึ้น อาจสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและทำให้มีการขึ้นราคาสินค้าและบริการอย่างกว้างขวาง ซึ่ง กนง.จะประเมินแรงกดดันต่อเงินเฟ้อและดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ