ธปท.มองความท้าทายใหม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์พีปี 53 ในจังหวะที่เหมาะสม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ใน 53 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์พี)จะเร่งตัวขึ้น แต่ต้องดูช่วงจังหวะเวลา ถ้าปรับเร็วไปอาจจะกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกนัยหนึ่งถ้าปรับช้าไปก็จะกระทบกับเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ธปท.จึงจะดูแลให้เกิดความสมดุลระหว่างสองด้าน

ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อของไทยมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น โดยจะเร่งตัวขึ้นในปี 53 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประเมินว่าจะอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากปีนี้ แม้ตัวเลขทั้งปี 53 อาจจะไม่สูงมาก ดังนั้นนโยบายการเงินช่วงต่อไปจะกลับมาดูเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ความท้าทายคือการเลือกจังหวะที่เหมาะสม

"นโยบายการเงินถึงจุดหนึ่งควรจะกลับไปดูแลเศรษฐกิจในระดับปกติ ถ้าเศรษฐกิจกลับไปดีดตัวสูงขึ้น การผ่อนคลายนโยบายการเงินคงจำเป็นน้อยลง ดังนั้นดอกเบี้ยอาร์พีก็คงจะกลับไปสู่ระดับปกติเช่นกัน" นายบัณฑิต กล่าว

อย่างไรก็ตาม การเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงแรกจะเป็นผลจากฐานที่ต่ำเป็นสำคัญ เพราะราคาน้ำมันในช่วงปลายปี 51 ถึงต้นปี 52 อยู่ในระดับต่ำ ส่วนปีนี้น้ำมันจะเร่งตัวขึ้น ซึ่ง กนง.จะต้องแยกให้ถูกว่าแรงกดดันของเงินเฟ้อมาจากปัจจัยที่แท้จริงหรือฐานที่ต่ำ แต่หมดจากจุดนี้ไปผลของฐานที่ต่ำในปีก่อนก็จะหายไป

ทั้งนี้ ธปท.มองเป้าเงินเฟ้อปีหน้า 0.3-5.0% ซึ่งจะเป็นเหตุผลสำคัญของการปรับดอกเบี้ยอาร์พีปีหน้า

นายบัณฑิต กล่าวว่า การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นการตอบสนองเศรษฐกิจที่ติดลบในปี 52 ซึ่งในปี 53 เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือความเข้มแข็งของการฟื้นตัวจะมีต่อเนื่องแค่ไหน เพราะยังมีหลายจุดที่ยังเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัว เช่น อัตราการว่างงานของสหรัฐยังสูง ปริมาณหนี้เสียของต่างประเทศที่ยังสูง และความไม่แน่ใจของการลดทอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของต่างประเทศ

ปัจจัยเหล่านี้กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ รวมทั้งกระทบต่อภาวะเงินทุนไหลเข้าเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย ซึ่งในปีหน้ามีการมองกันว่าเศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตได้ดีและเป็นตัวนำเศรษฐกิจโลก จะทำมีเงินไหลเข้มมามาก ทำให้ค่าเงินภูมิภาคและค่าเงินบาทผันผวน

ดังนั้น ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลความผันผวนให้ธุรกิจเอกชนสามารถดูแลตัวเองและปรับตัวได้ เนื่องจากเงินไหลเข้าจะกดดันค่าเงินบาทและราคาสินทรัพย์ รวมทั้งสินเชื่อด้วย ซึ่งในด้านสินเชื่อหากกระจุกตัวในภาคอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งก็อาจจะเสี่ยงต่อภาวะฟองสบู่ และหากเกิดขึ้นก็จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่ง ธปท.ต้องเข้าไปดูแลให้เศรษฐกิจได้รับประโยชน์จากเงินทุนไหลเข้า พร้อมกับมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งกลไกที่จะดูแลคือการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ส่วนกรณีปัญหาหนี้สินของดูไบเวิลด์และการที่กรีซถูกลดความน่าเชื่ออาจจะกระทบทำให้ต้นทุนการระดมทุนต่างประเทศสูงขึ้น ดังนั้นไทยต้องระมัดระวังไม่สร้างแรงกดดันให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง ต้องไม่ทำให้เครดิตของประเทศที่กำลังจะปรับขึ้นต้องชะงักไป

นายบัณฑิต กล่าวว่า ขณะนี้ไทยก็มีจุดที่เข้มแข็งที่อาจจะทำให้เครดิตของประเทศปรับตัวดีขึ้น เช่น ฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศ ฐานะการคลังที่เข้มแข็ง และความเข้มแข็งของภาคสถาบันการเงิน ขณะที่จุดอ่อนอยู่ที่เสถียรภาพการเมืองและเสถียรภาพการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เราก็จำเป็นต้องดูแลไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ