ธ.สแตนดาร์ดฯ มองศก.ไทยปี 53 ยังเปราะบาง GDP โต 2.8%หากการเมือง-มาบตาพุดยังไม่นิ่ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์ มองปี 53 ไทยขยายตัวได้แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.8% เนื่องจากหากการเมืองไม่นิ่งจะมีผลกระทบต่อต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล การพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ทำให้การฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง ส่วนเงินเฟ้อยังไม่น่าห่วง จึงประเมินว่าธปท.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงปี 54 ขณะที่ธนาคารพาณิชย์อาจขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงครึ่งหลังปี 53 เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่ค่าเงินบาท ระยะสั้นมีแนวโน้มอ่อนค่า แต่ระยะยาวมีโอกาสแข็งค่า โดยคาดว่าจะเห็น 32 ในปลายปี

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 53 ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ยังเปราะบาง เนื่องจากมี 2 ปัจจัยกำหนดการเติบโตเศรษฐกิจไทย คือ ความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองในประเทศ ซึ่งจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งหากการเมืองยังมีความวุ่นวายจะกระทบต่อพัฒนาการเศรษฐกิจ ทั้งการลงทุน การบริโภคภาคเอกชนที่อาจเปราะบาง ทำให้การฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวได้ในอัตรา 2.8% เป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และปี 54 คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 4.5% โดยการส่งออกของไทยในปี 53 จะกลับมาขยายตัวเป็นบวก แต่เป็นผลมาจากฐานของมูลค่าส่งออกในปี 52 ที่อยู่ระดับต่ำ ขณะที่มูลค่าการส่งออกที่จะกลับมาขยายตัวเหมือนช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจโลกคงเป็นเรื่องยาก

สำหรับเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น ยังไม่น่าเป็นห่วงและเป็นประเด็นที่น่าวิตก เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าในหมวดอาหารและพลังงาน ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น ไม่ได้เป็นการปรับสูงขึ้นจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย คงยังไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปจนถึงปี 54

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในปี 53 อาจต้องเผชิญกับเรื่องผลตอบแทนต่อเงินเฟ้อติดลบ แต่แนวโน้มดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์อาจจะปรับสูงขึ้นก่อนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบจะลดลง จากการที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีเป้าหมายขยายสินเชื่อ 5-8% ซึ่งเป็นเม็ดเงิน 4-6 แสนล้านบาท ดังนั้น อาจทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 53 เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง

ส่วนกรณีมาบตาพุดนั้น มองว่ามีผลกระทบทั้งทางและและทางอ้อม ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทำให้โครงการลงทุนที่มีเม็ดเงินคิดเป็น 4.3% ของจีดีพีต้องชะลออกไป ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่มองว่าจะทำการเติบโตเศรษฐกิจ 0.4-0.5% แต่สิ่งที่เป็นกังวลมากกว่าคือความรู้สึกต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ที่มองความไม่แน่นอนของกฎระเบียบเป็นปัจจัยเสี่ยงในการลงทุน หากไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในปี 53 อาจส่งผลต่อศักยภาพเงินลงทุนในประเทศ และระยะกลาง-ยาว จะเป็นผลทางจิตวิทยาต่อเม็ดเงินลงทุนในประเทศได้

ด้านนายคัลลัม เฮนเดอร์สัน หัวหน้าสำนักวิจัยกลยุทธ์การปริวรรตเงินตราระหว่างประเทศ ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (สิงคโปร์) คาดการณ์ว่า ในระยะยาว เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบสกุลเงินหลักและค่าเงินเอเซีย แต่ระยะสั้นมองว่าดอลลาร์มีโอกาสดีดกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งแรกปี 53 เนื่องจากการปรับฐานะการลงทุนของสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนต่างประเทศ และการไหลเข้าและการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในเอเซีย จะเป็นปัจจัยหนุนให้ค่าเงินเอเซียแข็งค่าในระยะยาว จนอาจทำให้ธนาคารกลางบางประเทศ ต้องเข้าแทรกแซงค่าเงิน เพื่อทำให้การแข็งค่าของเงินช้าลง

อย่างไรก็ตาม ให้ติดตามการแข็งค่าของเงินหยวนที่ขณะนี้เริ่มทรงตัวเมื่อเทียบดอลลาร์ แต่ในปี 53 คาดว่าเงินหยวนจะยังแข็งค่าต่อเนื่องอย่างน้อย 2% ซึ่งจะทำให้ค่าเงินในเอเซียแข็งค่าตาม รวมถึงเงินบาท

ส่วนค่าเงินบาท ระยะสั้นเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า จากดอลลาร์ที่แข็งค่า แต่แนวโน้มระยะยาว เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และเศรษฐกิจกำลังเติบโตต่อเนื่องในปี 53 และจะเร่งตัวขึ้นในปี 54 อีกทั้งยังได้รับอานิสงก์จากการแข็งค่าของเงินหยวน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปี 53 เงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์ แต่ครึ่งหลังปี 53 เงินบาทจะกลับมาแข็งค่า โดยปลายปีคาดว่าจะอยู่ที่ 32.00 บาท/ดอลลาร์

"เงินบาทที่แข็งค่า ทำให้การแข่งขันในภาคการส่งออกจะต้องมีการปรับตัว รับภาวะที่เกิดขึ้นและต้องมีการบริหารความเสี่ยงจากทิศทางเงินบาท ที่แข็งค่าที่จะกระทบรายได้ผู้ส่งออก" นายคัลลัม กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ