กนง.เน้นพิจารณา 3 ประเด็นหลักกำหนดทิศทางนโยบายการเงินในระยะต่อไป

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในระยะต่อไปจะพิจารณาจาก 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นแรก เป้าหมายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ดูแลให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพในการประคับประคองเศรษฐกิจ

ประเด็นต่อมา คือ การดูแลให้เศรษฐกิจที่อยู่ในระยะฟื้นตัว โดยการพิจารณาดอกเบี้ยจะให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ตราบใดที่ไม่ขัดต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว โดยระยะข้างหน้าหากจะมีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ต้องการให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งการประชุม กนง. 2-3 ครั้งที่ผ่านมา กนง.ก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

ส่วนประเด็นที่ 3 คือ กนง.จะไม่ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำต่อไปเนิ่นนานเกินไป หลังจากที่มีการคงอัตราดอกเบี้ยมาแล้วในการประชุมทั้ง 6 ครั้ง ซึ่งหากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำและสภาพคล่องส่วนเกินในระบบค่อนข้างมาก จะทำให้เศรษฐกิจเกิดความไม่สมดุล และอาจกดดันให้เกิดการเร่งตัวของภาวะฟองสบู่

"กนง.จะ focus นโยบายการเงินปีนี้ไปในทางการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ก็จะไม่เร่งปรับจนดอกเบี้ยเร็วเกินไปจนเศรษฐกิจสะดุด ซึ่งมันจะกลายเป็นความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็จะไม่ทำนโยบายการเงินช้าเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดฟองสบู่"นายไพบูลย์ กล่าว

ปัจจัยทั้ง 3 เป็นกรอบในการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีให้เหมาะสมต่อไป ขณะที่ในด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้นขณะนี้ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ แต่แนวโน้มต่อไปก็จะเกิดปัญหาเงินทุนไหลเข้า ซึ่งจะมีผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทผันผวน เห็นได้จากสัปดาห์ก่อนค่าเงินผันผวนค่อนข้างมาก แต่ธปท.จะดูแลและติดตาม เพื่อให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกตลาด และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วย

"การทำนโยบายการเงินวันนี้ กนง.สบายใจมาก ตรงนี้ก็จะหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นไปตามภาวะตลาด "นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การกำหนดนโยบายการเงินในช่วงปี 52 ที่ผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำอย่างรุนแรง โดยช่วงแรกความรู้สึกของตลาดค่อนข้างตกต่ำมาก เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60-70 ปี ดังนั้น นโยบายการเงินคือการบรรเทาผลกระทบ และดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้กลับมาเร็วขึ้น ที่ผ่านมานโยบายการเงินการคลังทำให้ได้ผลสำเร็จ แต่จากนี้ไปต้องดูว่าการฟื้นตัวจะยั่งยืนหรือไม่ และให้เอกชนสามารถเดินเองได้ก่อนถอนนโยบายการเงินการคลัง

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในขณะนี้ยังไม่เป็นปัจจัยที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเร็วขึ้น เนื่องจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ยต่ำยังเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในกรอบ 0.5-3.0% แต่ กนง.ยังไม่สามารถจะนิ่งนอนใจได้ ซึ่งจะไม่ปล่อยให้นโบการเงินช้าไปหรือเร็วเกินไปกว่าการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเอกชน

อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.จะมีการทบทวนคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในรายงานแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อฉบับใหม่ที่จะเผยแพร่ในสัปดาห์หน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ