ส.อ.ท.หนุนมาตรการเงินไหลออกธปท. พร้อมเสนอรัฐช่วยเพิ่มมาตรการภาษีจูงใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2010 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท และเป็นการช่วยสนับสนุนให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะในขณะนี้มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามามาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นและส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าภาคธุรกิจหรือนักลงทุนจะให้ความร่วมมือในการนำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าวงเงินออกไปลงทุนไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ก็จะทำให้นโยบายดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่

นายสันติ กล่าวว่า ภาคเอกชนยังเน้นย้ำว่าอยากให้รัฐบาลช่วยเรื่องมาตรการทางภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ โดยเฉพาะการลดหย่อนภาษีเมื่อมีรายได้จากลงทุนกลับเข้ามาในประเทศ เพราะหากมีความชัดเจนก็จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการกล้าที่จะออกไปลงทุนมากขึ้น โดยเชื่อว่าขณะนี้กลุ่มที่ออกไปลงทุนจะเป็นพวกกองทุนต่างๆ แต่กลุ่มที่จะไปลงทุนในรายธุรกิจคงยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

พร้อมระบุว่า เห็นด้วยกับการที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการจัดทำศูนย์ให้ข้อมูลข่าวสาร และตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) แต่อยากให้ดำเนินการให้มีความรวดเร็ว เพราะจะทำให้ SMEs มีข้อมูลในการวางแผนทำธุรกิจได้ เนื่องจากในอนาคตผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่สูงขึ้น จากการเปิดเขตการค้าเสรีในอาเซียน

ด้านนายมังกร ธนสารศิลป์ รองประธาน สอท.กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงของผู้ประกอบการ SMEs ในขณะนี้ คือ เรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอน และปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น การที่ธปท.ออกมาตรการดูแลค่าเงินบาทถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรเร่งในเรื่องของการออกระเบียบให้มีความชัดเจนโดยเร็ว เพราะจะเป็นการช่วยประกันความเสี่ยงให้กับเอกชน โดยภาคเอกชนอยากเห็นค่าเงินให้อยู่ที่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็จะต้องมีการทำประกับความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อลดปัญหาความผันผวนของค่าเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ