การท่าเรือฯ ทำแผนแม่บทพัฒนาที่ดินคลองเตย นำร่อง 4 แปลงเสนอครม.เม.ย.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 2, 2010 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเฉลิมชัย มีคุณเอี่ยม ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.)เปิดเผยว่า ในเดือน เม.ย.นี้ กทท.จะเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ปี 35 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ)เพื่อเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาที่ดินเบื้องต้น 4 แปลงแรกตามแผนแม่บทการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ

สำหรับที่ดิน 4 แปลง ประกอบด้วย พื้นที่ว่างบริเวณด้านข้างอาคารที่ทำการกทท.จำนวน 17 ไร่ , พื้นที่บริเวณคลังสินค้าผ่านแดนเดิม จำนวน 15 ไร่ ,พื้นที่บริเวณอาคารทวิชเดิม สำนักแพทย์และอนามัยกทท.และคลังสินค้าใกล้เคียง จำนวน 54 ไร่ และพื้นที่บริเวณอาคารพาณิชย์ตลาดคลองเตยถึงหัวมุมถนนที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เช่า จำนวน 127 ไร่

นายประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาโครงการศึกษาและจัดทำผังแม่บทฯ กล่าวว่า ท่าเรือกรุงเทพมีพื้นที่รวม 2,353 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ เพราะอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่ในแนวเส้นทางการเจริญเติบโตของเมือง

ท่าเรือกรุงเทพ เป็นพื้นที่ทองคำที่สามารถนำมาพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับ กทท.ได้มาก แต่ต้องจัดทำแผนการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในบริเวณท่าเรือกรุงเทพด้วย ในเบื้องต้นจะแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ รวมระยะเวลา 30 ปี

การพัฒนาระยะที่ 1 หรือในช่วง 1-3 ปีแรก จะนำพื้นที่ประมาณ 120 ไร่ บริเวณด้านทิศเหนือของอาคารสำนักงาน กทท. บริเวณสี่แยกศุลกากร มาพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ตลาดใหม่ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วง 4-5 ปี

ระยะที่ 2 จะสร้างที่พักอาศัย เป็นอาคารสูง 12 ชั้น เพื่อรองรับประชาชนในพื้นที่ชุมชนแออัด ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1.2 หมื่นครัวเรือน หรือประมาณ 7 หมื่นคน และการพัฒนาตลาดคลองเตยปัจจุบัน ให้เป็นตลาดที่มีความสะอาด สวยงาม คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วง 9-10 ปี หลังจากเริ่มดำเนินโครงการ

"การสร้างที่พักอาศัยให้กับประชาชนในพื้นที่ชุมชนแออัด และการพัฒนาตลาดคลองเตยนั้น จะไม่กระทบกับผู้ที่อาศัยอยู่เดิม เพราะประชาชนจะยังอาศัยอยู่ภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพเหมือนเดิม แต่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนของตลาดที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว และเชื่อว่าเมื่อพัฒนาตลาดคลองเตยแล้วจะทำให้ผู้ซื้อเพิ่มขึ้น 20-30%" นายประภากร กล่าว

ขณะที่การพัฒนาระยะที่ 3 จะเป็นการพัฒนาพื้นที่ใกล้ทางด่วน ซึ่งมีความสะดวกสบายในการเดินทาง และมีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน และอื่นๆได้ ส่วนพื้นที่ที่ใช้ในกิจการท่าเรือ จะมีการจัดการเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้งานมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ