"กอร์ปศักดิ์"เผย EXIT Strategy แค่แนวคิด รอดูศก. Q1/53 ก่อนตัดสินใจ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 11, 2010 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความเห็นถึงนโยบาย "Exit Strategy" ว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน เนื่องจากนายอภิสิทธ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรีพูดถึงทางออกจากวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจว่าถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเริ่มคิด แต่ยังไม่ได้ทำ เพียงแต่ต้องเตรียมตัวและขอสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ก่อนว่าเป็นอย่างไร รวมถึงดูสถานการณ์ในต่างประเทศด้วย

ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 หรือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาการลงทุนปีละ 3-4 แสนล้านบาท แต่หากจะมีการปรับปรุงก็น้อยมาก เพียงแต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงิน เช่น โครงการเดียวกันที่ใช้เงินนอกงบประมาณ ก็อยากจะมาใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้เป็นไปตามที่สมาชิกรัฐสภามีความเห็น ซึ่งเหตุที่ไม่ได้ทำตั้งแต่แรกเพราะไม่มีเงิน แต่ขณะนี้ตัวเลขการจัดเก็บรายได้ดีพอ เราสามารถใช้เงินในงบประมาณได้ แต่ต้องขอติดตามสถานการณ์ช่วงเม.ย.-พ.ค.ก่อนจึงจะเห็นชัด

"สิ่งที่นายวีระพงษ์ เป็นห่วง ผมก็ไม่ได้เถียงท่าน เพราะเราก็เป็นห่วงเหมือนกัน เพียงแต่ท่านอาจเข้าใจว่า เราจะยกเลิกโครงการ ซึ่งไม่ใช่ ส่วนที่ตำหนิว่าอยู่มา 1 ปีแล้วไม่มีโครงการอะไรใหม่ๆ เลย ก็ต้องเถียงว่าไม่จริง แต่โครงการเมกะโปรเจ็คต์คงไม่มีอะไรใหม่ เพราะของเก่ายังไม่ได้ทำอะไร รัฐบาลในอดีตบอกว่าจะทำรถไฟฟ้า 10 สาย แต่วันนี้ยังไม่ได้ทำเลย แล้วเราจะทำสายที่ 11 ได้อย่างไร เพราะสายที่ 3 ที่ 4 ยังไมได้ทำ เราต้องเคลียร์ของเก่าก่อน แต่ของใหม่สำหรับเกษตรกร เราทำโครงการประกันรายได้" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

ส่วนโครงการถนนปลอดฝุ่นยืนยันว่าโครงการที่มีมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท รัฐบาลไม่ได้ตัดออกจากแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท เพียงแต่จะเปลี่ยนจากเงินกู้มาเป็นงบประมาณปกติ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ว่าจะดำเนินการแน่นอน แต่ขณะนี้เร็วเกินไปที่จะบอกว่าเราจะไม่กู้เงิน เพราะต้องขอติดตามเศรษฐกิจก่อน

"กรอบเงินกู้จาก พ.ร.บ.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท รัฐบาลก็ยังคงกรอบนี้อยู่ต่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องกู้ทั้ง 4 แสนล้านบาท อาจจะกู้เพียง 5 หมื่นล้าน หรืออย่างมากก็ 3.5 แสนล้านบาทก็ได้ หากเราสามารถจัดเก็บรายได้ได้สูงเกินเป้าเช่นปี 2552 ที่ผ่านมา เราจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้ากว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่การลงทุนโดยใช้เงินกู้จาก พ.ร.บ.จะอยู่ที่ปีละประมาณแสนกว่าล้านต่อปีเท่านั้น" เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการที่หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย มีแผน "Exit Strategy" หรือจีนที่ออกกฎคุมการปล่อยกู้ เพราะกลัวปัญหาอัตราเงินเฟ้อและหนี้สาธารณะนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป และหากมีสัญญาณว่าจีนเริ่มปล่อยให้ค่าเงินหยวนสวิงตัวมากขึ้นจากเดิมที่กำหนดไว้ให้คงที่ ก็น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ