สศก.จัดประชุมนานาชาติเรื่องเชื้อเพลิงชีวภาพ แสวงหาพลังงานทางเลือกแทนน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 15, 2010 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมนานาชาติเรื่อง “Biofuels from Agricultural and Agro-Industrial Wastes" ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพการประชุมนานาชาติดังกล่าวระหว่างวันที่ 24-27 พฤษภาคม 2553 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเอเปค (เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประกอบด้วย 21 เขตเศรษฐกิจ คือ ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน จีน(ฮ่องกง) อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีน(ไทเป) ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม)

โครงการการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “Biofuels from Agricultural and Agro-Industrial Wastes" เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญในแง่ของการแสวงหาพลังงานทางเลือกเพื่อทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติราคาน้ำมันได้มีการใช้นโยบายที่กระตุ้นและส่งเสริมให้มีการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชเศรษฐกิจ เช่น bioethanol จากข้าวโพดและน้ำตาล หรือไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการนำพืชเศรษฐกิจเหล่านี้มาใช้เป็นพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประชากรโลก

ทั้งนี้ องค์การระหว่างประเทศหลายแห่งรวมถึงเอเปค ได้สนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจาก non-food feedstocks เช่น ของเหลือใช้และสิ่งตกค้างจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์และป่าไม้ ราคาถูกและ biomass จากพืชพลังงานเชื้อเพลิงที่สามารถปลูกได้บนพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ดินที่มีความเค็มสูง หรือที่เรียกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 เพื่อลดความเกี่ยวพันระหว่างพลังงานชีวภาพและพืชอาหาร

โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจถึงผลกระทบของเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ในเขตเมืองและเขตชนบท รวมทั้งเป็นการสนองตอบต่อประเด็นทางด้านความมั่นคงอาหารของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมถึงซากไม้หรือพืชพรรณจากป่าด้วยวิธีการทางชีวภาพ และเพื่อให้สังคมตระหนักถึงศักยภาพของการค้าเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 รวมทั้งเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือเพื่อจัดทำเครือข่ายนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากสิ่งเหลือใช้ ทำให้เกิดการพัฒนาที่มีความยั่งยืนและการค้าเชิงพาณิชย์ อันจะนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร และลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนพลังงานของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ