In Focusแกะรอยเคล็ด (ไม่) ลับความรวยฉบับ “คาร์ลอส สลิม" มหาเศรษฐีแห่งปี 2553

ข่าวต่างประเทศ Wednesday March 17, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

‘เศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือเลวลง แต่เงินก็ไม่เคยหายไปไหน เพียงแต่มันเปลี่ยนกระเป๋าอยู่เท่านั้น’

อมตะวาจาดังว่าดูท่าจะเป็นความจริง หลังจากปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์รายงานว่า อันดับมหาเศรษฐีโลกคนล่าสุดในปีนี้ตกเป็นของ “คาร์ลอส สลิม" ประมุขแห่งอาณาจักรโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ในเม็กซิโก เจ้าของสินทรัพย์กองโตมูลค่า 53,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นัยที่ซ่อนไว้ในรายงานล่าสุดจากนิตยสารที่ทรงอิทธิพลของแวดวงธุรกิจฉบับนี้ คือ การสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 1 โลก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปี ที่สุดยอดมหาเศรษฐีในปีนี้เป็นบุคคลจาก “ประเทศกำลังพัฒนา" หาใช่ชาวอเมริกัน อย่างราชาไมโครซอฟท์ หรือพ่อมดการลงทุนแต่อย่างใด

การล้มแชมป์เก่าอย่างบิล เกตส์ รวมถึงคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ มีขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และจำนวนมหาเศรษฐีก็เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึง 50% แต่กระนั้นชื่อเสียงเรียงนามของคาร์ลอส สลิม ยังไม่ปรากฎเป็นที่คุ้นหูของผู้คนมากนัก แม้เขาจะมีดีกรีติดอันดับเศรษฐีโลกมานานหลายปีแล้วก็ตาม ดังนั้น มาในปีนี้จึงถึงเวลาอันสมควรที่เราจะร่วมทำความรู้จักเขาให้มากยิ่งขึ้น พร้อมล้วงลึกเคล็ด (ไม่) ลับบนเส้นทางแห่งความร่ำรวยของหนุ่มใหญ่วัย 70 ปีที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีแห่งปี 2553

‘เริ่มต้นด้วยดี เท่ากับสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง’ -- อริสโตเติ้ล (นักปราชญ์ชาวกรีก)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2483 หนึ่งในครอบครัวผู้อพยพชาวเลบานอนที่เข้ามาตั้งรกรากในแดนดินถิ่นจังโก้ได้ให้กำเนิดบุตรชายที่มีชื่อว่า คาร์ลอส สลิม เฮลู (Carlos Slim Helu) ซึ่งเขาเติบโตขึ้นมาในฐานะลูกชายเจ้าของร้านค้าเล็กๆ โดยที่มี “จูเลียน สลิม" ผู้เป็นบิดาปลูกฝังการทำธุรกิจให้แก่เขาตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินด้วยตัวเอง

ด้วยความที่บิดาของสลิมเป็นคนไม่หยุดนิ่ง และคิดทำธุรกิจอยู่ตลอดเวลา ทำให้สลิมซึมซับนิสัยเฉพาะตัวนี้มาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน และแม้ว่าผู้เป็นบิดาจะจากสลิมไปตั้งแต่เขาอายุได้เพียง 13 ปี แต่มรดกตกทอดด้านการคำนวณที่บิดาทิ้งไว้นี้ช่วยให้สลิม สามารถต่อยอดธุรกิจที่บุพการีตีเส้นไว้ให้ได้อย่างไม่ยากเย็น และนั่นจึงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทำให้วันนี้ สลิม กลายเป็นเจ้าของบริษัทกว่า 200 แห่งในเม็กซิโก

สลิมสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเม็กซิโกเมื่อช่วงปี 2503 ก่อนจะผันตัวเองไปเป็นโบรกเกอร์ และเรียนรู้การลงทุนในธุรกิจหลากหลายประเภท อีกทั้งยังมีนิสัยชอบเล่นหุ้นเป็นชีวิตจิตใจ ดังนั้น การเริ่มต้นเดินบนเส้นทางที่สว่างไสว เพื่อก้าวขึ้นเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกจึงอยู่ไม่ไกลเกินไปถึง

‘โอกาสมีอยู่เสมอ สำหรับผู้ที่มองเห็น’ -- กวีนิรนาม

ต้นยุค 80 ละตินอเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ธุรกิจเกือบทุกอย่างในเม็กซิโกล้วนได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่สลิม มองเห็นโอกาสในวิกฤตนั้น พร้อมก้าวเข้าไปกว้านซื้อบริษัทที่ใกล้ล้มละลายมาได้ในราคาถูก ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า กลุ่มบริษัทการเงิน รวมถึงธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐานการประปาและไฟฟ้า ก่อนที่จะชุบชีวิตบริษัทเหล่านี้ด้วยการบริหารงานตามหลักการใหม่ จนสามารถผลิดอกออกกำไร และกลายเป็นบริษัทที่มีสินทรัพย์มหาศาลได้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

นักวิเคราะห์ในแวดวงธุรกิจกล่าวว่า ความมั่งคั่งของสลิมส่วนใหญ่มาจากมูลค่าหุ้นในบริษัทของเขาที่พร้อมใจกันทะยานขึ้นแบบยกแผง โดยเฉพาะมูลค่าหลักทรัพย์ในกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของนายสลิมคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าหลักทรัพย์โดยรวมในตลาดหุ้นเม็กซิโก ขณะที่ธุรกิจครอบครัวเขาสร้างรายได้ในสัดส่วน 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเลยทีเดียว

อาร์ทูโร เอเลียส อายุบ หนึ่งในคนใกล้ชิดของสลิม และเป็นสมาชิกทีมผู้บริหารของบริษัทโทรคมนาคมของเขาเล่าผ่านสื่อต่างประเทศว่า ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้สลิมก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าในทุกวันนี้ เป็นเพราะเขาไม่เคยหยุดนิ่งในการลงทุน แม้ว่าจะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ เขายังเป็นปรมาจารย์ด้านการซื้อกิจการต่างๆ ของภาครัฐที่มีปัญหา และนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ก่อนจะขายออกไปด้วยกำไรที่ใครก็คาดไม่ถึง

หลายคนมองว่าอุปนิสัยในการดำเนินธุรกิจอันเป็นที่มาแห่งความร่ำรวยของสลิม คือ ผลลัพธ์จากการผสานความลงตัวของบิล เกตส์ บุรุษผู้ทำธุรกิจผูกขาด ขณะที่อีกภาพคือคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ผู้สร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นในฐานะนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสในทุกวิกฤต

‘คนที่ฉลาด คือ คนที่สร้างโอกาสมากกว่าที่เขาหาได้’ -- ฟรานซิส เบคอน (นักปรัชญาชาวอังกฤษ)

ปี 2533-2553 เป็นช่วงเวลาที่ชาวเม็กซิกันต่างเคยชินกับการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้จักรวรรดิของสลิมมานานกว่า 2 ทศวรรษ เพราะในวันนี้ สลิม คือ เจ้าของเครือบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลายตามสไตล์ “ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ" ไล่ตั้งแต่ “คอมป์ ยูเอสเอ" เครือข่ายร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า “อินเบอร์ซา ไฟแนนเชียล กรุ๊ป" สถาบันการเงินในเม็กซิโก และกลุ่มบริษัท “กรูโป คาร์โซ อินดัสเทรียล" ธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหาร และล่าสุดคือการเข้าถือหุ้นใหญ่ใน “หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์" ที่ช่วยโอบอุ้มให้บริษัทสามารถผลิตข้อมูลข่าวสารส่งถึงมือผู้อ่านมาได้ในทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ในยุคที่โทรศัพท์มือถือคือปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ธุรกิจหลักของสลิมที่สร้างความมั่งคั่งให้กับเขาจึงตกอยู่ที่ธุรกิจด้านการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะบริษัท “เทเลโฟนอส เดอ เม็กซิโก" หรือ “เทลเม็กซ์" ซึ่งเขาได้ทุ่มเงิน 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากรัฐบาลเม็กซิโกในระหว่างที่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเมื่อปี 2533 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ เทลเม็กซ์ ก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานแบบผูกขาดในเม็กซิโก ที่สำคัญบริษัทยังสามารถครองตลาดโทรศัพท์บ้านได้ถึง 92% และครองตลาดโทรศัพท์มือถือไปในสัดส่วน 73%

นอกจากนี้ สลิมยังมีธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ชื่อว่า “เทลเซล" ซึ่งชิงเค้กส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 80% แต่ความยิ่งใหญ่ยังไม่หมดแค่นั้น เพราะสลิมยังมีบริษัท “อเมริกา โมวิล" ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนขึ้นแท่นเป็นผู้ให้บริการระบบการสื่อสารไร้สายที่ใหญ่ที่สุดในละตินอเมริกา พ่วงตำแหน่งเป็นเจ้าของเครือข่ายที่มีผู้ใช้บริการมากกว่าร้อยล้านราย

ฉะนั้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากทุกวันนี้ ครอบครัวชาวเม็กซิกันจะไปทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารของสลิม...หยิบโทรศัพท์ที่ใช้เครือข่ายของสลิมเมาท์กับเพื่อนระหว่างรอทานอาหาร....แวะเคาน์เตอร์ธนาคารเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตของสลิม....เดินช็อปปิ้งในห้างสรรพสินค้าของสลิมเพื่อย่อยอาหาร และตบท้ายด้วยการจิบกาแฟที่คาเฟ่ของสลิม ก่อนกลับเข้าบ้านซึ่งอยู่ในโครงการที่บริษัทก่อสร้างของสลิมเป็นผู้ดูแล!

‘ความสามารถอาจทำให้ท่านขึ้นสู่ตำแหน่งยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้ดำรงอยู่ได้คือคุณธรรม’ -- อับราฮัม ลินคอล์น (ปธน.คนที่ 16 ของสหรัฐ)

อภิมหาเศรษฐีที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมของโลกหลายท่านตอบแทนสังคมด้วยการก่อตั้งมูลนิธิต่างๆขึ้นมา เป็นต้นว่า มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ของพ่อมดไอทีบิล เกตส์ ขณะที่คาร์ลอส สลิมเองก็ใช้ความร่ำรวยของเขาตอบแทนสังคมจนได้รับรางวัลจาก World Education and Development Fund ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งในครั้งนั้นเขาได้กล่าววาทะจับใจในงานมอบรางวัลว่า “หลายคนต้องการที่จะทำให้โลกดีขึ้นเพื่อลูกๆ ของพวกเขา แต่ผมพยายามที่จะสร้างลูกๆ ที่ดีให้กับโลกของผม"

ตัวอย่างโครงการเพื่อสาธารณกุศลของสลิมเริ่มตั้งแต่โครงการ HYPERLINK ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2529 โดยมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาด้านการศึกษา สุขภาพ ความยุติธรรม รวมถึงการพัฒนาบุคคลและชุมชน ต่อด้วยกองทุน Fundacimn Telmex ที่ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของโครงการด้านการศึกษา สุขภาพวัฒนธรรม ความยุติธรรมและความสวัสดิภาพของสังคมเม็กซิกัน ขณะที่โครงการ Casa Telmex ซึ่งก่อตั้งในปี 2550 มุ่งเน้นด้านการศึกษาเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ให้แก่เด็กๆ ที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี

ทั้งนี้ ครอบครัวของสลิมอธิบายว่า วิธีจัดตั้งโครงการของพวกเขามีขึ้นเพื่อมุ่งแก้ปัญหาความยากจนโดยใช้วิธีพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าที่จะให้เงินบริจาคแก่คนจน โดยพวกเขาได้กล่าวเหตุผลหนึ่งซึ่งน่าฟังว่า วิธีการที่ดีที่สุดเพื่อช่วยเหลือผู้คน คือ “การให้งานทำ มากกว่าจะให้เงินใช้" ดังนั้น ตนจึงสนับสนุนเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการจ้างงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานที่จะช่วยยกระดับชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ สำหรับนิสัยส่วนตัวนั้น สลิมในวัย 70 ปีเป็นที่รู้จักกันดีว่าเขาไม่ใช่พวกฟุ้งเฟ้อเห่อความร่ำรวย และแม้ปกติเขาจะนิยมใส่สูทที่ดูดี แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสูทพวกนี้จะแพงหูฉี่เสมอไป อีกทั้งยังสวมใส่นาฬิกาข้อมือพลาสติกเป็นเวลานานหลายปี นอกจากนี้ยังแทบไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ที่บริษัทตัวเองขาย บ่อยเท่ากับการใช้สมุดโน้ตธรรมดาๆ

‘การเป็นคนรวยก็เหมือนการเป็นเจ้าของสวนผลไม้ เราต้องแบ่งผลไม้ให้คนอื่นบ้าง แต่ไม่ต้องแบ่งต้นให้’ -- คาร์ลอส สลิม

สุดท้ายนี้ วาทะดังในอดีตของคาร์ลอส สลิม เจ้าของเรื่องราวที่ถูกเรียงร้อยผ่านตัวอักษรในบรรทัดแรกจรดจนถึงบรรทัดนี้ คือ บทสรุปบนวิถีความมั่งมีของมหาเศรษฐีแห่งปี 2553 ที่อาจกล่าวได้ว่า สุดท้ายแล้วการมีทรัพย์สินมากมาย คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เพราะหากร่ำรวยเงินทอง แต่แล้งซึ่งน้ำใจ ก็หาใช่เศรษฐีที่แท้จริง…!!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ